CMUGS: เปิดโลกภูมิศาสตร์ EP2: เมื่อภูมิศาสตร์กลายเป็นภูมิศาสตร์อันหลากหลาย

อารียา ติวะสุระเดช

นักศึกษาปริญญาโท สาขาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศศาสตร์

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

——-

ระหว่างการอ่านหนังสือและทบทวนวรรณกรรมด้านภูมิศาสตร์มนุษย์ในประเด็นต่าง ๆ ผู้เขียนสังเกตว่าบทความหลายชิ้นเลือกใช้คำว่า geographies หรือภูมิศาสตร์อันหลากหลาย ซึ่งทำให้ผู้เขียนเกิดความสงสัยว่ามันต่างจากการใช้คำว่า geography หรือภูมิศาสตร์อย่างไร เช่น Hybrid geographies (Whatmore, 2002), Food’s cultural geographies (Cook et al., 2013), Health geographies (Andrews, 2019), Geographies of conservation (Adams, 2019) และ Human geographies of climate change (Brace and Geoghegan, 2011) หรือแม้แต่ชื่อวารสารเช่น Cultural Geographies การอ่านบทความเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนเข้าใจว่า การทดแทนตัว y ด้วยพหูพจน์ ies และกลายเป็น geographies นั้น ไม่ใช่แค่เรื่องไวยากรณ์ แต่เป็นเรื่องของกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนไปของภูมิศาสตร์มนุษย์ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา

บทความชิ้นนี้ต้องการพาผู้อ่านร่วมเดินทางไปสำรวจว่าทำไมในปัจจุบัน การศึกษาของ geography หรือภูมิศาสตร์ได้กลายเป็น geographies หรือภูมิศาสตร์อันหลากหลาย ที่ต้องการเน้นความหลากหลายของสรรพสิ่งในโลก ความหลากหลายของความรู้และผู้คนที่มากกว่าที่นักภูมิศาสตร์กลุ่มเดียวจะกำหนดหรือทำความเข้าใจได้ อีกทั้งความมีชีวิตชีวาของสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงตัวเรากับสิ่งที่ดูเหมือนอยู่ไกลตัวมาก แต่กลับอยู่ใกล้ตัวเราในชีวิตประจำวัน และประกอบสร้างให้พื้นที่ปรากฎ เวลาที่คุณมองโลกผ่านแว่นตาภูมิศาสตร์ 

ในบทความชมรม CMUGS เปิดโลกภูมิศาสตร์ EP.1 “ภูมิศาสตร์เบื้องต้นในภูมิศาสตร์เบื้องต้น” ของ คอลิคและอัษฎาวุธ ได้อธิบายความหมายเบื้องต้นของคำว่าภูมิศาสตร์ หรือ geography ไว้ และยกตัวอย่างเพื่ออธิบายคำว่าพื้นที่หรือ space ด้วยขอบเขตเช่น ขนาด (size) และระดับพื้นที่ (scale) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีขอบเขตชัดเจนไม่ว่าจะเป็นขนาดที่เป็นตารางกิโลเมตรหรือระดับพื้นที่ในรั้วมหาวิทยาลัยหรืออำเภอเมืองเชียงใหม่ แต่บทความนี้ ผู้เขียนจะชวนผู้อ่านมาลองตั้งคำถามกับนักภูมิศาสตร์ว่า ภูมิศาสตร์อธิบายโลกอย่างไรท่ามกลางสภาพสังคมของโลกที่ซับซ้อน โยงใย เกี่ยวพันกันจนยากที่จะแยกแยะสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างโดดเดี่ยว ภูมิศาสตร์จะศึกษาอะไรหากคำนิยามหนึ่งของศาสตร์นี้คือ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโลกธรรมชาติและมนุษย์

ผู้เขียนขอแบ่งลักษณะการศึกษาของภูมิศาสตร์ออกเป็น 3 แนวทาง แนวทางแรกคือ การอธิบายโลกแบบที่คนทั่วไปเข้าใจ เสมือนเป็นการสำรวจสไตล์นักผจญภัยที่ออกเดินทางไปดูว่ารอบตัวเราบนโลกนี้มีอะไรบ้าง มีภูเขาแบบไหน มีแม่น้ำแบบไหน มีป่าแบบไหน มีสภาพอากาศแบบไหน มีบ้านถิ่นเมืองนอนที่ไหน เขาอยู่กันอย่างไรและปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างไร เราจะเห็นภาพการสำรวจเช่นนี้เสมือนนายใหญ่ที่ออกสำรวจโลก ไปในถิ่นที่ไม่มีใครเคยพบเจอ และให้นิยามกับคำอธิบายกับสิ่งที่เห็นว่ามันคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และจับเข้ากลุ่ม แบ่งประเภท ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมเชิงกายภาพอย่างเทือกเขาและลุ่มน้ำ หรือกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมคล้ายกัน ดั่งที่เห็นได้ในยุคการล่าอาณานิคม

พื้นฐานของแนวทางแรกได้เพิ่มความรู้ความเข้าใจของภูมิศาสตร์ไปได้กว้างและไกลจนออกนอกโลกได้เลย ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 หลักการทางวิทยาศาสตร์เริ่มปฏิวัติวิธีการนำเสนอแบบพรรณนาที่ภูมิศาสตร์มักทำ ภูมิศาสตร์ถูกมองว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์มากพอและการพรรณนาก็ไม่ได้ต่างอะไรจากการบันทึกการเดินทางที่เป็นความคิดส่วนบุคคล ในช่วงเวลานี้ก็ประจวบเหมาะกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และพัฒนาการเทคโนโลยีที่เติบโตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ ดาวเทียม สัญญาณเครือข่ายที่นำไปสู่หลักคิดที่พยายามค้นหาความจริงของโลกที่เป็นสากลหนึ่งเดียว เช่น ข้อเสนอของนักทำแผนที่ที่เป็นรุ่นบุกเบิกของภูมิสารสนเทศศาสตร์อย่าง Waldo Tobler ในปี 1970 ว่าด้วยกฎข้อแรกของภูมิศาสตร์ (Tobler’s first law of geography) ที่ว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างมีความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น แต่สิ่งที่อยู่ใกล้กันจะสัมพันธ์กันมากกว่าสิ่งที่อยู่ไกลออกไป” ทำให้การอธิบายเชิงภูมิศาสตร์มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น มีการใช้สถิติ มีพิกัดตำแหน่งแห่งที่ของจุด เส้นและโพลีกอนชัดเจน มีการระบุแจกแจงได้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนหรือควรอยู่ตรงไหน ดั่งที่เรามีเครื่องมืออย่างระบบนำทางในการขนส่งและเดินทางที่กำหนดระยะเวลาได้แม่นยำ การระบุขอบเขตพื้นที่ป่าและจุดไฟไหม้ฮอตสปอตที่กำลังปล่อยหมอกควันจนแสบจมูก การสร้างแบบจำลองเพื่อประเมินความเสี่ยงทางภัยพิบัติที่มาก่อนกาล เช่นการคาดการณ์ระดับน้ำขึ้น-ลงของแม่น้ำโขงสายประธานและขอบเขตพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ

แต่การระบุตำแหน่งแห่งที่ได้อย่างชัดเจนและแม่นยำไม่เพียงพอในโลกปัจจุบันที่ความใกล้ไกลของการเชื่อมโยงยากที่จะระบุตำแหน่ง คนจับปลาริมแม่น้ำโขงที่อุบลราชธานีกำลังเสี่ยงดวงกับระดับน้ำโขงที่ไหลลงมาน้อยลงในช่วงฝน ผิดประสบการณ์ที่เขาเคยรอปลาที่อพยพขึ้นมาที่อาจมาไกลถึงโตนเลสาบ น้ำที่หลากลงมาจากแม่น้ำโขงตอนบนก็ถูกกักควบคุมโดยเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่อยู่ห่างกันเป็นหลายกิโลเมตร อันเป็นผลผลิตของนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนหรือการลงทุนของบริษัทและสถาบันการเงินของไทยใน สปป.ลาว สภาพน้ำโขงที่เปลี่ยนไปผิดจากประสบการณ์ของแม่หญิงริมโขง ทำให้ความรู้เรื่องระบบนิเวศท้องถิ่นเช่นหาดทรายและดินดอนที่เธอเคยไปปลูกผักหรือจับปลากลายเป็นแค่เรื่องเล่าจากอดีต ในกรณีเหล่านี้ การตัดสินใจแผนพัฒนาเศรษฐกิจและไฟฟ้าที่ปักกิ่งกับนโยบายการส่งเสริมพลังงานสะอาดอย่างเขื่อนยั่งยืนที่ถูกถกเถียงกันที่โต๊ะสหประชาชาติที่ห่างไกล กลับยึดโยงอยู่ใกล้กับตัวคนจับปลาหรือแม่หญิงที่ปลูกผักริมโขงมากกว่านโยบายภูเก็ตแซนด์บ๊อกในประเทศเดียวกันเสียอีก ผู้เขียนเห็นด้วยกับความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งที่ปรากฎอยู่เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดของ Tobler แต่เนื่องจากระยะทางความใกล้กันของจุด เส้นและโพลีกอนใช่ว่าจะแปลว่าสิ่งเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์มากกว่าสิ่งที่อยู่ห่างกัน ผู้เขียนจึงมองว่า กฎข้อแรกของภูมิศาสตร์ที่ Tobler เสนอไว้ไม่เพียงพอและไม่สามารถอธิบายกระบวนการที่ทำให้ความสัมพันธ์ที่ดูไกลข้ามทวีปแต่กลับมีอิทธิพลใกล้ตัวเราในชีวิตประจำวันได้อีกต่อไป 

ตำแหน่งพิกัด x,y ที่มักถูกถ่ายทอดด้วยระบบภูมิสารสนเทศในปัจจุบัน เป็นผลจากมุมมองต่อโลกแบบคาร์ทีเซียนที่แบ่งแยกร่างกายและจิตใจออกเป็นสองขั้ว (Cartesian dualism) และนำไปสู่การแบ่งแยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติ ผู้หญิงออกจากผู้ชาย และทำให้มนุษย์(ชายผิวขาวตะวันตก)เป็นศูนย์กลางในการกำหนดความหมายของโลกและธรรมชาติ แต่ปัญหาอยู่ที่มีมนุษย์บางกลุ่มเท่านั้นที่ทำตัวเป็นใหญ่เหนือกว่าผู้อื่นและสิ่งอื่น การขับเคลื่อนของแนวคิดของชนพื้นเมือง ผู้ที่ถูกกดขี่ เควียร์และเฟมินิสต์ที่กำลังตั้งคำถามและรื้อถอนอำนาจที่กดขี่ที่พรูพรั่งออกมาในช่วงคริสทศวรรษ 1970-1980 ส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงวิธีการศึกษา มุมมองและประเด็นที่ภูมิศาสตร์สนใจ ให้เป็นมากกว่าการมองออกไปที่ภูมิทัศน์และพินิจวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไหน แต่เป็นแนวทางที่ 3 นั่นคือการเข้าไปสัมผัสและกระทำการท่ามกลางสายสัมพันธ์ที่ทับซ้อนเชื่อมร้อยกันอยู่ของมนุษย์และธรรมชาติจนเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้พื้นที่ปรากฎ หรือที่ Doreen Massey (1994) เรียกว่า จุดพบปะ (a meeting place) ที่ไม่มีขอบเขตจำกัดพื้นที่ สายสัมพันธ์เหล่านี้มีทั้งเชิงเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ได้ปรากฎอยู่บนพิกัดตำแหน่งแห่งที่อย่างชัดเจน แต่ทะลุทะลวงต่างระดับพื้นที่ตั้งแต่ท้องถิ่นจนถึงระดับโลก และไม่สามารถขีดเส้นระยะทางว่าใกล้หรือไกลได้ การกระทำเช่นนี้เป็น “การร่วมเติบโตไปกับโลก” หรือการเข้าไปอยู่ท่ามกลางความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง มนุษย์และธรรมชาติเพื่อค้นหาสาระสำคัญที่หายไปด้วยการใช้ประสาทสัมผัสในการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของโลกร่วมกับสิ่งรอบกาย ทั้งที่เป็นวัตถุ สิ่งมีชีวิตหรือสิ่งกายภาพที่มากกว่าการมองลงไปที่พื้นที่ ใช้การรู้สึกและการกระทำเพื่อมีประสบการณ์ร่วมกับสถานที่นั้น ๆ มากกว่าการคิดพินิจในหัว และตระหนักว่าเรา(นักภูมิศาสตร์/มนุษย์)ไม่ได้เป็นผู้เดียวที่สามารถกำหนดภูมิศาสตร์ของพื้นที่แห่งนั้น 

ดังนั้นนักภูมิศาสตร์จึงไม่สามารถศึกษาสายสัมพันธ์ของสังคมและตำแหน่งแห่งที่ของสรรพสิ่งด้วยตนเองเพียงอย่างเดียว การแบ่งแยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติผนวกกับแนวคิดทุนนิยมที่เปรียบธรรมชาติเป็นแค่ทรัพยากรที่ต้องรอให้มนุษย์สร้างมูลค่าให้จนกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมพะรุงพะรังในปัจจุบัน ได้กระตุ้นให้นักภูมิศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นสายมนุษย์ กายภาพหรือเทคนิคมาทำงานร่วมกัน (Kwan, 2004) และร่วมกับนักมานุษยวิทยา นักสังคมศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน ชนพื้นเมือง ชาวนา สรรพสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์และกลุ่มคนอีกมากมายในการปลดมนุษย์ออกจากศูนย์กลางและให้ตระหนักถึงอิทธิพลของสรรพสิ่งที่มากกว่ามนุษย์ที่เราสัมพันธ์และยึดโยงด้วย (Country et al., 2016; Whatmore, 2006) จนกลายเป็นจุดพลิกที่มาเสริมพลังและพลังชีวิตให้สิ่งรอบตัวเราไม่ว่าจะเป็นน้ำ อากาศ สัตว์ พืช แบคทีเรีย สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ รวมทั้งวัตถุเช่น โครงสร้างพื้นฐานและคอมพิวเตอร์ ความสัมพันธ์ที่เหนือกว่ามนุษย์จะรับรู้และสัมผัสได้ เป็นข้อท้าทายที่กำลังโต้เถียงกับการพยายามสร้างความเป็นสากลของภูมิศาสตร์ที่ยังพยายามตีกรอบและพิกัดตำแหน่งแห่งที่ตายตัวให้สรรพสิ่งอื่น ๆ

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการเปลี่ยนผ่านจากภูมิศาสตร์ที่เป็นการอธิบายโลกเป็นการร่วมเติบโตไปกับโลกด้วยประสบการณ์ตัวเอง ในช่วงเดือนแรกที่ผู้เขียนย้ายมาอยู่เชียงใหม่ ผู้เขียนวางแผนไปเยือนสวนผักกลางเมืองเชียงใหม่แห่งหนึ่ง แต่ผู้เขียนไปไม่ถูก จึงโทรไปถามทาง เสียงปลายทางโทรศัพท์บอกให้เดินไปทางคลองแม่ข่า แต่สำหรับคนที่ยังจับทิศไม่ถูกอย่างผู้เขียน การใช้ Google map จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการเดินทางเพื่อไปให้ถึงที่ ๆ เราไม่รู้จัก หลังจากวันนั้น ผู้เขียนมีโอกาสไปเยือนสวนผักแห่งนี้มากครั้งขึ้น ได้ไปหยอดเมล็ดผักลงดิน ถอนหญ้า ขุดแปลง พรวนดิน เด็ดผลผลิต พูดคุยกับชาวสวนท่านอื่น ๆ และผู้มาเยือนท่านอื่น ๆ เป็นลมแดดบ้าง ปวดหัวกับกลิ่นน้ำหมักบ้าง สวนผักแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ใหม่ที่ผู้เขียนค่อย ๆ คุ้นชินและผูกพันขึ้น การมีอยู่ของสวนผักแห่งนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะเรามองเห็นมันอยู่ข้างถนน เป็นจุดที่มีพิกัดบน Google map หรือมีคนบอกไว้เท่านั้น แต่ยังผ่านการกระทำและความรู้สึกที่สัมผัสได้ถึงความมีชีวิตชีวาของสถานที่แห่งนี้ 

นอกจากนี้ พื้นที่แห่งนี้ยังประกอบสร้างด้วยความสัมพันธ์ที่พัวพันโยงใยระหว่างผัก คน แมลง ดิน สิ่งแวดล้อมเชิงกายภาพ ระบบเศรษฐกิจของโลกที่กำหนดราคาให้พืชผักกลายเป็นสินค้า วัฒนธรรมการกินที่ถูกหล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมและความสะดวกในการบริโภคสมัยใหม่ ผังเมืองของเมืองเชียงใหม่ กฎหมายการปกครองท้องถิ่นของไทยและไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามามีอิทธิพลให้สวนผักแห่งนี้ปรากฎขึ้น ทั้งบนพื้นที่กายภาพที่ผักกำลังเจริญเติบโต บนโลกของชาวสวน บนโลกของตลาดและร้านอาหารที่พืชผักเหล่านี้กลายเป็นอาหารให้ผู้คน บนภาพวาดผังแปลงของนักออกแบบที่นั่งอยู่ในบริษัท บนรายงานการดำเนินการประจำปีของผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายที่สำนักงาน  ความสัมพันธ์ของโลกเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้พื้นที่แห่งนี้ไม่มีความสากล เกี่ยวร้อยกันหลากระดับพื้นที่ตั้งแต่ระดับปัจเจก ระดับท้องถิ่นถึงระดับโลก และเป็นสภาวะที่ไม่ถาวร สามารถเปลี่ยนไปเป็นสิ่งอื่นได้เสมอ เช่น ตลาดผักสด สนามเด็กเล่น พื้นที่รกร้างหรือกองขยะ

ดังนั้นการเปลี่ยนคำมาเป็นภูมิศาสตร์อันหลากหลาย จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องไวยากรณ์ธรรมดา แต่เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของภูมิศาสตร์มนุษย์ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ที่พยายามผลักดันตัวเองให้ร่วมเติบโตไปกับศาสตร์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นมานุษยวิทยาหรือสังคมวิทยา ซึ่งมีแนวคิดเหล่านี้ไปก่อนแล้วด้วยซ้ำ เช่น The Social Life of Things: Commodities in Cultural Perspective (Appadurai, 1986), the Perception of the Environment: Essays on Livelihood, Dwelling and Skill (Ingold, 2000) และ Feral Atlas: The More-Than-Human Anthropocene (Tsing et al., 2021) นักภูมิศาสตร์มนุษย์จึงจำเป็นตั้งขยับปรับเปลี่ยน โดยยึดเอาข้อเสนอของ Tobler เป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้เราพินิจว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และเราจะตระหนักความสัมพันธ์ของมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ที่ประกอบสร้างพื้นที่เพื่อปรับตำแหน่งแห่งที่ของนักภูมิศาสตร์ จากผู้กำหนดวาดแผนที่หรือให้ความหมายกับสิ่งต่าง ๆ บนโลกนี้ ให้เข้าไปเป็นผู้ร่วมเรียนรู้และสัมผัส ผู้ร่วมตั้งคำถามและสร้างประสบการณ์ร่วม ผู้มาหนุนเสริมพลัง ผู้ที่ตระหนักว่าโลกที่เราอยู่นั้นช่างหลากหลายดั่งที่ Massey ได้เสนอไว้ได้อย่างไร ในเมื่อโลกของผู้เขียนก็ต่างจากโลกของผู้อ่าน แต่โลกที่หลากหลายเหล่านี้ไม่ได้แยกขาดจากกัน หากแต่ทับซ้อนและถักทอกัน และไม่มีโลกของใครจะสามารถอยู่เหนือโลกของคนอื่นได้ตลอดกาล

ท่ามกลางสภาพสังคมของโลกที่ซับซ้อน โยงใย เกี่ยวพันกันจนยากที่จะแยกแยะสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างโดดเดี่ยว นักภูมิศาสตร์รุ่นใหม่จึงไม่สามารถพยายามกำหนดความเป็นสากลให้โลกทั้งใบด้วยมุมมองของมนุษย์เป็นศูนย์กลางแบบภูมิศาสตร์ดั้งเดิม ไม่อาจเพียงมองดูสภาพแวดล้อมและวาดแผนที่โดยแยกแยะสิ่งแวดล้อมออกจากความสัมพันธ์กับคนและสรรพสิ่ง แต่สามารถที่จะผนึกและบูรณาการ “การร่วมเติบโตไปกับโลก” ที่หลากหลายของศาสตร์นี้ในการเรียนรู้และสัมผัสความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกันระหว่างโลกอันหลากหลายของธรรมชาติและสรรพสิ่งในรูปแบบพันทางแบบภูมิศาสตร์อันหลากหลายเพื่อสร้างประสบการณ์และจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของมนุษย์ให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งต่าง ๆ บนโลกนี้ได้อย่างเป็นธรรม

——-

ติดตามการร่วมเติบโตไปกับโลกของเหล่านักภูมิศาสตร์รุ่นใหม่ที่กำลังออกไปผจญภัยร่วมกับศาสตร์อื่น ๆ ต่อได้ที่เพจ Department of Geography, Chiang Mai University

——-

อ้างอิง

ชยา วรรธนะภูติ. (2557). ทฤษฎีและระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพสำหรับนักภูมิศาสตร์ที่มองโลกแบบหอยทาก. ใน ลิวา ผาดไธสง (บ.ก.), งานวิจัยทางภูมิศาสตร์: รวมบทความทาง วิชาการในวาระครบรอบ 50 ปี ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (น. 42-55). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

Adams, W. M. (2019). Geographies of conservation II: Technology, surveillance and conservation by algorithm. Progress in Human Geography, 43(2), 337–350.

Andrews, G. J. (2019). Health geographies II: The posthuman turn. Progress in Human Geography, 43(6), 1109-1119.

Appdurai, A. (Ed.) (1986). The social life of things: Commodities in cultural perspective. Cambridge: Cambridge University Press

Brace, C., & Geoghegan, H. (2011). Human geographies of climate change: Landscape, temporality, and lay knowledges. Progress in Human Geography, 35(3), 284-302.

Cook, I., Jackson, P., Hayes-Conroy, A., Abrahamsson, S., Sandover, R., Sheller, M., Henderson, H., Hallett, L., Imai, S., Maye, D., & Hill, A. (2013). Food’s cultural geographies: Texture, creativity, and publics. In N.C. Johnson, R.H. Schein, & J. Winders (Eds), The Wiley-Blackwell Companion to Cultural Geography (pp. 343-354). London: Wiley-Blackwell.

Country, B., Wright, S., Suchet-Pearson, S., Lloyd, K., Burarrwanga, L., Ganambarr, R., Ganambarr-Stubbs, M., Ganambarr, B., Maymuru, D., & Sweeney, J. (2016). Co-becoming Bawaka: Towards a relational understanding of place/space. Progress in Human Geography, 40(4), 455-475. 

Ingold, T. (2000). The perception of the environment: Essays on livelihood, dwelling and skill. London: Routledge.

Kwan, M. (2004). Beyond difference: From canonical geography to hybrid geographies. Annals of the Association of American Geographers, 94(4), 756-763.

Massey, D. (1994). A global sense of place. In Doreen Massey, Space, Place and Gender. Minneapolis: University of Minnesota Press. 

Tobler, W. (1970). A computer movie simulating urban growth in the Detroit region. Economic Geography, 46, 234-240.

Tsing, A.L., Deger, J., Keleman Saxena, A. & Zhou, F. (2021). Feral Atlas: The More-Than-Human Anthropocene. Redwood City: Stanford University Press.

Whatmore, S. (2002). Hybrid Geographies: Natures, Cultures, Spaces. London: Sage.

Whatmore, S. (2006). Materialist returns: Practising cultural geography in and for a more-than-human world. Cultural Geographies, 13(4), 600-609. 

แชร์ข้อความ:

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save