CMUGS EP17: ทางเลือกของเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน Series: กลุ่มชาติพันธุ์กับการเกษตรรูปแบบใหม่ Smart Farming

.

จุฑามาศ โชคกิติคุณ

นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

.

          ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ หนึ่งในคำจำกัดความของคำว่า “สังคมพหุวัฒนธรรม” ที่มีความหมายว่า สังคมที่มีความหลากหลายของคนและกลุ่มคนที่หล่อหลอมรวมกัน แต่ในมิติของความคิดและความรู้สึกของคนไทยจำนวนไม่น้อย พบว่า ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมและรัฐบาลอย่างเป็นทางการว่าเป็นประชาชนของประเทศอย่างสมบูรณ์

            ในประเทศไทยกลุ่มชาติพันธุ์มีการกระจายตัวไปทั่ว ทั้งอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงและพื้นที่ราบ มีกระจายกันไปถึงในทะเลและในป่าลึก มีการดำรงชีวิตที่อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติมาอย่างยาวนาน อีกทั้งกลุ่มชาติพันธุ์มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและผสมผสานในพื้นที่สูง ที่เรียกว่า “เกษตรพื้นที่สูง” [1, 2]

            โดยปกติแล้วกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่สูง ต้องพบเจอกับสภาพความยากจนจากการมีรายได้ที่น้อย เนื่องมาจากผลผลิตทางการเกษตรของกลุ่มชาติพันธุ์มีน้อย ต้นทุนค่อนข้างสูง ราคาต่ำและมีการเปลี่ยนแปลงของราคาตลอดเวลา อีกทั้งยังมีข้อจำกัดของการสร้างรายได้ทางอื่นนอกจากทำเกษตรหากอาศัยพื้นที่ทำกินในพื้นที่ป่าสงวน นอกจากนี้ การทำการเกษตรในกลุ่มชาติพันธุ์มีการใช้สารเคมีที่อาจปนเปื้อนต่อผลผลิต สภาพแวดล้อม ทรัพยากรทางดินและน้ำ เกิดปัญหามีน้ำใช้ไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร ส่งผลให้ปลูกพืชได้ในช่วงฤดูฝนเท่านั้น [2]

            บทความนี้ต้องการที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ Smart Farming ในมิติของกลุ่มชาติพันธุ์ ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาอาหาร จัดสรรการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าในข้อจำกัดการใช้พื้นที่ทำกินและฤดูกาล เพื่อเพิ่มผลผลิตสำหรับการจำหน่าย สร้างรายได้ที่เพิ่มมากและมั่นคงขึ้นในอนาคต และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ที่มีร่วมกันกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal : SDGs)

เคยสงสัยไหมว่าทำไมชาติพันธุ์จึงเปราะบาง?

        สิทธิที่ถูกลิดรอน กลุ่มชาติพันธุ์ในไทยมีสิทธิความเสมอภาคที่แตกต่างจากสังคมหลักของไทย ‘ความแตกต่าง’ ในที่นี้ คือ แตกต่างทางโอกาสและสถานสภาพ กล่าวง่ายๆ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ จนโอกาสการเข้าถึงการศึกษา เข้าถึงเทคโนโลยี เข้าถึงสถานภาพทางสังคมที่เท่าเทียม เพราะสังคมส่วนใหญ่ยังมองว่าพวกเขาเป็นคนแปลก คนนอก และคนป่า [1] อีกทั้งการถูกลิดรอนสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน เพราะมีพื้นที่ทำกินที่ทับซ้อนกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นผลทำให้การจัดหารายได้และพื้นที่ทำกินถูกจำกัด [3] ถึงแม้จะมีการอนุโลมสำหรับกลุ่มคนชาติพันธุ์ที่อยู่ก่อนการกำหนดเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ก็ไร้การได้เอกสารสิทธิ์ถือครองที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซ้ำยังมีข้อจำกัดของการสร้างรายได้ทางอื่นนอกจากทำการเกษตรหากอาศัยพื้นที่ทำกินในพื้นที่ป่าสงวน [2] ทำให้เกิดความยากจนเรื้อรังและความไม่เสมอภาคอย่างยาวนานเกิดขึ้น

Smart Farming ทางเลือกที่ดีขึ้น? 

            เพื่อการดำรงอยู่อย่างมีบทบาทมากที่สุดในอนาคตสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเกษตรกรรม การปรับความคิดในรูปแบบการทำการเกษตรให้อยู่ในข้อกำหนดของรัฐบาล และการใช้พื้นที่ที่ถูกจำกัดเนื่องจากการไร้สิทธิ์ถือครองที่ดินอย่างถูกกฎหมาย การทำเกษตรที่เรียกว่า Smart Farming จึงเป็นเหมือนทางออกที่ดีที่สุด ซึ่ง Smart Farming เป็นแนวคิดแบบใหม่ เพื่อการพัฒนาภาคการเกษตรสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เข้มข้นขึ้นของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะเปลี่ยนรูปแบบการเกษตรแบบเดิม ๆ ให้เป็นรูปแบบใหม่ ที่พึ่งพาทรัพยากรเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาช่วยในการจัดการระบบการผลิตให้มีผลลัพธ์ทางปริมาณและคุณภาพที่เพิ่มขึ้น ดีขึ้น และส่งผลกระทบทางลบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด [4, 5] อีกทั้งเพื่อพิชิตกับความไม่มั่นคงทางอาหารที่จะเพิ่มทวีสูงขึ้นในอนาคตให้ได้อีกด้วย

            อย่างไรก็ดี Smart Farming แตกต่างจากที่คาดคิด’ เรามักคิดว่าการทำ Smart Farming เป็นการจัดการที่สมบูรณ์ ชัดเจน มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ในความเป็นจริงอาจเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับเกษตรกรทั่วไป เนื่องจากต้องใช้ทักษะและความเข้าใจ เกิดความยากลำบากต่อการเรียนรู้เองของตัวเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ๆ อาจกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายการลงทุนสูงในอนาคต [6] ยิ่งกับกลุ่มชาติพันธุ์ ยิ่งเป็นไปได้ยาก เนื่องด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ทำกินมีการทับซ้อนเขตป่าสงวนแห่งชาติ บางส่วนด้อยโอกาสทางการศึกษา จบการศึกษาส่วนมากในระดับที่ต่ำ พ่อแม่มีรายได้น้อยเกินกว่าจะส่งเรียนต่อในระดับสูง [7, 8] อีกทั้งขาดการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ดีสำหรับกลุ่มของคนที่อาศัยในชุมชนห่างไกล [8, 9]

ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวนี้ส่งผลให้ขัดต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในข้อที่ 2.3, 10.2 และ 10.3 ที่ว่าด้วย เป้าหมายข้อที่ 2.3 เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายเล็ก โดยเฉพาะผู้ผลิตผู้หญิง ผู้ผลิตคนพื้นเมือง ผู้ผลิตเกษตรแบบครอบครัว คนเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวประมง ให้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ผ่านความมั่นคงและความเท่าเทียมในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรปัจจัยนำเข้าในการผลิต ความรู้ บริการทางการเงิน ตลาด และโอกาสสำหรับการเพิ่มมูลค่าและการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ภายในปี 2573 เป้าหมายข้อที่ 10.2 ให้อำนาจส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่นๆ ภายในปี 2573 และเป้าหมายข้อที่ 10.3 สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้

            ถึงกระนั้น Smart Farming ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะนำมาสู่ความยั่งยืนทางอาหารในอนาคต ให้กับประชากรโลกได้อย่างเพียงพอ ที่มีโอกาสจะเพิ่มขึ้น 8.6 พันล้านคน ในปี 2030 และ 9.8 พันล้านคน ในปี 2050 และ 11.2 พันล้านคนในปี 2100 [10] อีกทั้งยังสามารถจะมีผลผลิตที่ตรงต่อหลักอนามัย มีคุณภาพ ได้ปริมาณ ลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และใช้ทรัพยากรอย่างไม่ฟุ่มเฟือย เป็นแนวทางในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนที่สุด ให้ตรงไปตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ข้อที่ 2.4 และ 12.2 ที่ว่าด้วย เป้าหมายข้อที่ 2.4 ทำให้เกิดความมั่นใจในระบบการผลิตอาหารและการปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยืดหยุ่น เพื่อเพิ่มผลิตภาพผลผลิตและผลผลิตที่จะช่วยรักษาระบบนิเวศน์ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งใน และ เป้าหมายข้อที่ 12.2 บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573

‘ไร้โอกาส = ไร้ความฝัน = ไร้อนาคต’?

            แน่นอนว่า การทำ Smart Farming ในมิติของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นยากที่จะเป็นไปได้ แต่ Smart Farming อาจเป็นทางออกเดียวในอนาคต อย่างไรก็ดี อุปสรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ก็มีมากเกินกว่าจะทำได้หากไร้สิทธิ์ ไร้ความเสมอภาค ไร้โอกาส ซึ่งในอนาคต การเปลี่ยนแปลงที่รอคอยอาจมาถึงมือของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่มากก็น้อยบ้าง หากนโยบายที่กำหนดขึ้นสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์มีทั้งความชัดเจนในหลักการและในทางปฏิบัติ อีกทั้งหากได้แก้ข้อกฎหมายเขตป่าสงวนแห่งชาติ คืนพื้นที่ทำกินตามอำนาจกฎหมายก่อนมีการกำหนดเขตป่าสงวนให้กับกลุ่มชาติพันธุ์เองด้วย อย่างไรก็ดี กลุ่มชาติพันธุ์เองที่ควรกระตือรือร้น ลุกขึ้นมาต่อสู้กับสิทธิที่ตนควรได้รับ ไม่ใช่การยอมอยู่เฉยๆ และกลายเป็นเพียงกลุ่มที่เปราะบางต่อไป

            หากไม่ไร้ความหวัง และต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนควรได้รับ ‘มีโอกาส = มีความฝัน = มีอนาคต’

อ้างอิง

[1] The stranger who came from the hill. (2019). รู้จัก 8 ชนเผ่าในไทย เรื่องราวและวิถีชีวิตจากคนห่างไกล. ค้นจาก https://minimore.com/b/9OLf$/1

[2] สวพส. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). (2562). เกี่ยวกับสภาพพื้นที่สูง. ค้นจาก https://www.hrdi.or.th/about/Highland

[3] ราชกิจจานุเบกษา. (2507). พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507.

[4] Sciforce. (2020). Smart Farming: The Future of Agriculture. Retrieved from https://www.iotforall.com/smart-farming-future-of-agriculture

[5] ธนาคารกรุงเทพ. (2019). แนวคิดเกษตรยุคใหม่ “Smart Farm”. ค้นจาก https://www.bangkokbanksme.com/en/smart-farm

[6] สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร. (ม.ป.ป.). Smart Farming ความสำเร็จและความท้าทายแห่งยุคสมัย. ค้นจาก https://www.arda.or.th/knowledge_detail.php?id=6

[7] Thai PBS. (2563, 1 ตุลาคม). กลุ่มชาติพันธุ์ในไทย สิทธิที่ยังไม่เท่าเทียม : Big Story เรื่องใหญ่ Thai PBS.

ค้นจาก https://www.bing.com/videos/search?q=%e0%b8%8a%e0%b8%b2%e0%b8%95%e0%b8%

[8] เครือข่ายติดตามการศึกษาไทย. (2555). รายงานสรุปการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาของเด็กด้อยโอกาสในสังคมไทย. ค้นจาก https://www.gotoknow.org/posts/249493

[9] MGR Online. (2564). หลงเสน่ห์ “ดาว TikTok สาวชาวอาข่า” ฝ่าทางลูกรัง-หาสัญญาณเน็ต-ใช้โซเชียลฯ เปิดทาง ความเจริญ!! [มีคลิป]. ค้นจาก https://mgronline.com/live/detail/9640000099829

[10] Pansasiri. (2561). UN เผยประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 7,600 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 9,800 ล้านคนภายในปี 2050. ค้นจาก https://www.winnews.tv/news/21893

[11] Cover image: https://www.freepik.com/free-photo/farmer-standing-rice-field-with-tablet_3738144.htm?fbclid=IwAR0LkI2Sn95jxyb7kMbc-t3giV2WdEZ2MOSW-UQvi74U0F0vMnquDD4VPuY#query=smart%20farm&position=0&from_view=keyword

แชร์ข้อความ:

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save