สรุปงานเสวนา Virtual Geography Speaker Series ครั้งที่ 9 บรรยายโดย Professor Shin Hyun Bang

หัวข้อ: ทฤษฎีสร้างได้จากที่ไหน? บทสะท้อนงานเขียนเชิงวิชาการจากโลกตะวันออก (Theorising from where? Reflections on scholarly writing from the global East)

บรรยายโดย: Professor Shin Hyun Bang, London School of Economics and Political Science.

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม 2565 เวลา 19:00 – 20:20 น.

สรุปโดย: เผ่าไทย สินอำพล – ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

………………………………………………………………………………………………….………………

1. Professor Hyun Bang กล่าวว่า การศึกษาเมืองเป็นมิติที่สำคัญในทางสังคมศาสตร์ แต่ที่ผ่านมา ผลงานทางวิชาการส่วนใหญ่มุ่งเน้นวิเคราะห์ประเด็นของเมืองศูนย์กลางใหญ่ๆ ของภูมิภาคยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือ เช่น ลอนดอน นิวยอร์ค เป็นต้น ซึ่งทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และการเมืองของเมืองในพื้นที่อื่นๆ เพราะฉะนั้น เราจึงควรสร้างทฤษฎี ฉายภาพเชิงประจักษ์ และบอกเล่าถึงปฏิบัติการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมืองในฝั่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่โลกตะวันตกด้วย เพื่อเป็นการลดลำดับชั้นของผลผลิตทางความรู้ด้านเมืองในยุคหลังอาณานิคม ให้ออกจากศูนย์กลางจากโลกตะวันตกไปสู่เมืองต่างๆ ในประเทศใต้ หรือประเทศกำลังพัฒนา (theorising from the Global South to decentralise hierarchical production of knowledge about city)

2. คำถามที่สำคัญ คือ เราเรียนรู้อะไรจากความพยายามที่จะให้ความสำคัญกับเมืองในประเทศกำลังพัฒนา แล้วเอาความรู้เหล่านี้ไปเติมเต็มหรือทบทวนความเข้าใจของเมืองในประเทศเหนือหรือประเทศพัฒนาแล้วอย่างไร อย่างไรก็ดี วงวิชาการในปัจจุบันยังขาดความรู้ 2 ประเด็น คือ 1) ขาดภาพความเข้าใจของเมืองที่หลากหลาย เพราะนอกเหนือยุโรปตะวันตกและอเมริการเหนือแล้ว ที่เหลือก็ถูกเหมารวมเป็นภาพความเข้าใจของเมืองในประเทศกำลังพัฒนาหมดโดยไม่แยกภูมิภาค 2) ความคิดแบบคู่ตรงข้ามระหว่างเมืองในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ทั้งๆ ที่มีเมืองในภูมิภาคแห่ง “ความก้ำกึ่ง” ในกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมือง อย่างเช่น ภูมิภาคเอเชียตะวันออก

3. ความก้ำกึ่งของเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (และอาจรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) อย่างเช่น สิงคโปร์ หรือเมืองในไต้หวันและเกาหลีใต้ เจริญเติบโตขึ้นด้วยสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่แตกต่างจากเมืองในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ซึ่ง Professor Hyun Bang ให้ความเห็นว่าการเกิดขึ้นของประเด็นศึกษาตรงนี้เป็นประเด็นการศึกษาเฉพาะในสาขาเมืองศึกษาระดับโลก ซึ่งมีส่วนในการทำลายคู่ตรงข้ามในการทำความเข้าใจเมืองระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา

….

4. แต่ในขณะเดียวกัน องค์ความรู้วิชาการของเมืองในประเทศจีนและมหานครโลกที่อยู่ในทวีปเอเชีย เพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับในทวีปแอฟริกาและเอเชียส่วนอื่นๆ จนกลายเป็นว่าเป็นการนำเสนอประเด็นของมหานครระดับโลกมากเกินไป (Over-representation of big/global cities) เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น เดลี มุมไบ เป็นต้น แต่ทำไมบทความวิชาการที่ศึกษาเมืองที่ไม่ใช่โลกตะวันตกอื่นๆ แบบพื้นที่เดียว (non-western single site) ถึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการและผู้ตีพิมพ์ ในขณะเดียวกัน การศึกษายังละเลยเมืองเล็ก-เมืองภูมิภาค และเมืองที่มีประชากรมากกว่า 3 ล้านคน แต่ไม่ได้ถูกจัดเป็นมหานครโลก (Professor Hyun Bang เรียกเมืองเหล่านี้ว่า black hole cities) เพราะฉะนั้น สิ่งที่สังเกตได้ในการศึกษาเมืองปัจจุบัน คือ เรายังคงตกอยู่ภายใต้ความคิดในการศึกษามหานครขนาดใหญ่ตามลำดับศักดิ์
….

5. แนวทางการศึกษาแบบโต้กลับเพื่อลดการสร้างความรู้ฝั่งตะวันตกเป็นศูนย์กลาง จึงเกิดขึ้นตามมุมมองหลังอาณานิคมและมาร์กซิสต์ใหม่ ซึ่งพยายามหลุดกรอบการศึกษาเมืองในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจ-การเมืองภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ เพื่อพินิจเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับพื้นที่ในด้านปฏิบัติการของการพัฒนา เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคมที่เป็นมรดกตกทอดจากยุคอาณานิคม ซึ่งเกิดจากการนำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และท้องถิ่น นำไปวิเคราะห์เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ในระดับชาติและระดับโลก การศึกษาเมืองแบบนี้ถือเป็นการเมืองของการต่อต้านด้านเศรษฐกิจการเมืองภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่นำโดยอำนาจตะวันตกขั้วเก่า

….

6. เมืองจึงเป็นเหมือนพื้นที่ที่บันทึกประวัติศาสตร์ข้ามถิ่นที่ และเป็นพื้นที่ต่อรองความสัมพันธ์ทางพื้นที่และสังคมทั้งในเชิงปฏิบัติการและเชิงญาณวิทยาระหว่างภูมิภาคต่อองค์ความรู้ตะวันตกที่เคยถูกมองว่าเป็นสากล องค์ความรู้เชิงต่อรองที่เกิดขึ้นตรงนี้จะช่วยวิพากษ์ปัญหาของการเบียดขับเสียงของประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว

….

7. ท้ายสุด ในฐานะนักวิชาการ เราควรสร้างเครือข่ายวิชาการด้านเมืองในประเทศกำลังพัฒนาและโลกตะวันออกที่กำลังพบเจอปัญหาหลายอย่าง เช่น การปิดกั้นความรู้ ความเป็นลำดับขั้นทางเพศภาวะ ความอาวุโส ความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ ฯลฯ เพื่อทำให้เกิดการต่อรองพื้นที่การศึกษาเมืองเชิงวิพากษ์บนพื้นฐานของปฏิบัติการในพื้นที่จริงๆ และให้เสียงแก่ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ศึกษาของนักวิชาการแต่ละกลุ่ม

…………………………………………………

แชร์ข้อความ:

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save