CMUGS: เปิดโลกภูมิศาสตร์ EP1: ภูมิศาสตร์เบื้องต้น ใน ภูมิศาสตร์เบื้องต้น

เรียบเรียง     คอลิค เหมแก้ว,  อัษฎาวุธ อินทรมา

ภาพ         อัษฎาวุธ อินทรมา

                   ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับลูกหยาดน้ำฟ้า ภูมิศาสตร์ มช. ปี 64 ทุกคนด้วยนะครับ ในช่วงการเขียนบทความนี้เป็นช่วงปิดการประมวลผลเพื่อรับนักศึกษาในรอบที่ 3 ครั้งที่ 2 พอดิบพอดี ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายในการคัดเลือกนักศึกษาเข้าสู่รั้วของภาควิชาภูมิศาสตร์ วันนี้เราเลยจะมาพูดคุยกันว่าภูมิศาสตร์คืออะไร ??? 

ในบทความนี้ เราจะมาลองศึกษาและทำความเข้าใจคำว่า “ภูมิศาสตร์”  บอกก่อนว่า บทความนี้ถูกออกแบบมาให้กับน้อง ๆ ที่ยังสงสัยว่า ภาควิชาภูมิศาสตร์นี้ เขาทำอะไรกัน? เรียนอะไรเป็นหลักนะ? แล้วเราจะไปเจอกับอะไรกันแน่ ?  ขอแนะนำว่ามาลองอ่านบทความนี้กัน

ภูมิศาสตร์ในมุมมองสังคมไทย

             อย่างแรกเลย เราคงต้องมาดูมุมมองจากคนภายนอกกันก่อน ผมในฐานะผู้เขียนบทความก็เชื่อว่าผู้อ่านเองคงมีมุมมองของภูมิศาสตร์ที่ตัวเองเข้าใจ แต่เรามาลองดูกันว่าคนอื่นเขามองภูมิศาสตร์กันยังไง 

“อ้อ…ดีแล้ว จบมาจะได้เป็นครู” เป็นคำพูดของเเม่ธันวา ในหนังสือ “อยากให้ลมหนาวหวนมาอีกครั้ง“  โดยนามปากกา อภิชาติ เพชรลีลา หรือในมุมของผู้ใหญ่บางท่านก็มีคำกล่าวว่า “เรียนเกี่ยวกับหินดินทราย” หรือถ้าดูสมัยใหม่มาอีกนิดก็จะมีว่า “เรียนทำแผนที่” หรือลักษณะการเรียนหลาย ๆ ครั้งก็มีคำพูดเช่นว่าการเรียนภูมิศาสตร์ก็มีแต่การท่องชื่อเมืองหลวงหรือขอบเขตของประเทศ ซึ่งเมื่อมองมาในการเรียนจริง ๆ ก็พบว่ามีการเรียนการสอน หรือเมื่อจบมาเเล้วก็ทำอาชีพอย่างที่กล่าวมาจริง ทว่ามีรายละเอียดที่คนทั่วไปยังไม่รู้อยู่อีกมาก

ภูมิศาสตร์ในอุดมคติ (ในมุมมองของคำนิยาม)

             หากเปรียบว่าเราอยากรู้จักสิ่งใด เราควรเข้าใจชื่อของสิ่งนั้นก่อน เพราะชื่อก็พอสามารถบอกตัวตนของสิ่งนั้น หากเราอยากรู้จัก “ภูมิศาสตร์” เราคงต้องรู้จักกับความหมายของคำนี้เสียก่อน ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภา ได้กำหนดความหมายของคำว่าภูมิศาสตร์ไว้ว่า “วิชาที่ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติกับสังคมที่ปรากฏในดินแดนต่าง ๆ ของโลก” หรือหากเราย้อนไปดูถึงรากคำที่ Erathosthenes นักปราชญ์ชาวกรีกผู้สามารถคำนวณเส้นรอบโลกได้มีความแม่นยำนั้นได้ใช้คำว่า Geography คนแรก และถือเป็นบิดาของวิชาภูมิศาสตร์นั้น เมื่อแกะแยกคำว่า “Geo” ซึ่งแปลว่า โลก และ “Graphein” ซึ่งแปลได้ว่า พรรณนา ถือได้ว่าเป็นความหมายที่ดูเก่า และเมื่อดูบริบทของภูมิศาสตร์นั้นก็เริ่มมีการขยายขอบเขตมากขึ้นและเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

Erathosthenes 

ที่มา : https://mathhistorythai.wordpress.com/2020/04/21/mathhis5/

             เมื่อมาดูความหมายของคำนี้จากแหล่งอื่นเพิ่มอีก เช่น จาก National Geographic Society ก็มีคำจำกัดความที่ดูเจาะจงและให้รายละเอียดขึ้นคือ 

Geography is the study of places and the relationships between people and their environments. Geographers explore both the physical properties of Earth’s surface and the human societies spread across it. They also examine how human culture interacts with the natural environment, and the way that locations and places can have an impact on people. Geography seeks to understand where things are found, why they are there, and how they develop and change over time.” 

         หากมามองความหมายที่  Royal Geographical Society ได้ให้ไว้: 

“เป็นการศึกษาภูมิทัศน์ ผู้คน สถานที่ และสิ่งแวดล้อมของโลกเราที่อาศัยอยู่ ในเชิงวิชาการ และวิชาภูมิศาสตร์เป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมสังคมศาสตร์เข้ากับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ โดยภูมิศาสตร์พยายามทำให้เกิดความเข้าใจกระบวนการสังคมและกายภาพในบริบทของพื้นที่และภูมิภาค โดยตระหนักถึงความแตกต่างอันใหญ่หลวงระหว่าง วัฒนธรรม ระบอบการปกครอง เศรษฐกิจ ภูมิทัศน์ และสิ่งแวดล้อมในระดับโลกถึงระดับท้องถิ่นและพยายามสร้างความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยดังกล่าวเข้าด้วยกันผ่านความแตกต่างระหว่างระดับของพื้นที่ (Scale) นอกจากนี้ภูมิศาสตร์เป็นศาสตร์เพื่อศึกษาชีวิตและการดำรงชีวิตและเรียนรู้ผ่านรูปแบบที่เป็นทางการจากในห้องเรียน หรือประสบการณ์ส่วนบุคคลทั้งในรูปแบบการท่องเที่ยว การศึกษาภาคสนาม การสำรวจ ซึ่งช่วยให้มนุษย์เป็นผู้ที่รับรู้ ตระหนัก และรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”  

เป็นนิยามที่คล้ายคลึงกับ National Geographic Society โดยได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในอดีตมาจนถึงปัจจุบันนี้ภูมิศาสตร์กลายเป็นศาสตร์ที่ไม่หยุดนิ่งและเป็นศาสตร์ที่มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นจากอดีตเป็นอย่างมาก

แล้วสุดท้ายภูมิศาสตร์คืออะไรกันแน่ ? 

             หากนำความคิดของตัวผู้เขียนโดยสรุปความหมายของทั้งสององค์กรทีมีความน่าเชื่อถือคือ National Geographic Society และ Royal Geographical Society และเรื่องของการใช้เครื่องมือทางภูมิศาสตร์แล้วนั้น เหมือนจะบอกเป็นนัยๆ ว่า ภูมิศาสตร์เปรียบเป็นเหมือนสะพานของวิชาทางด้านสังคมศาสตร์ที่มองปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นของมนุษย์และสิ่งต่างๆ เช่น วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่เรียนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เเละอีกส่วนที่สำคัญคือเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ เช่น ระบบภูมิสารสนเทศ การรับรู้ระยะไกล การออกภาคสนาม และอื่น ๆ เพื่อมารวมกันแก้ไขปัญหาปรากฎการณ์ หรือทำความเข้าใจปรากฎการณ์นั้นให้ชัดเจนได้ยิ่งขึ้น แต่สุดท้าย ความหมายในอนาคตจะไปในทิศทางใดนั้นกอยู่ที่แนวโน้มความเป็นไปของศาสตร์นี้เอง และอาจขึ้นอยู่กับการนำภูมิศาสตร์นำมาบูรณาการกับศาสตร์อื่นเพิ่มเติมในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ความแตกต่างของ Space 

              การจะเรียนวิชาภูมิศาสตร์ก็ต้องมีความเข้าใจกับคำนี้เสียก่อน เพราะจะเป็นอะไรที่จะบ่งบอกขอบเขตหรือพื้นที่ที่จะศึกษา ซึ่งนอกจากนี้ยังมีหลายศัพท์ที่ถูกใช้ แต่เราจะคำนี้มาเพื่อเป็นเบื้องต้นไว้ก่อนSpace หากแปลอย่างตรง ๆ แปลว่าพื้นที่ อยู่แล้วซึ่งทุกคนอาจจะพอเข้าใจได้ แต่การแบ่งพื้นที่ถูกแบ่งย่อยลงไปอีก คือ Absolute Space หรือที่เรียกกันในภาษาไทยที่ว่า พื้นที่แท้จริง ซึ่งความหมายก็คือพื้นที่จริงๆ โดยเราสามารถวัดขนาด มีขอบเขตชัดเจนเชื่อมโยงกับลักษณะทางกายภาพและวัฒนธรรมพื้นผิวโลก หากจะยกตัวอย่างง่ายที่สุดก็คงต้องเป็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะมีขอบเขตชัดเจนคือรั้วของมหาวิทยาลัยและสามารถวัดพื้นที่ได้อย่างแน่นอน (เพราะเรารู้ขอบเขต) แถมยังมีความสัมพันธ์กับลักษณะทางกายภาพเช่น เราอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพหรือความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมบางครั้งเราจะเจอคนพูดภาษาถิ่นใส่เรา (โดยเฉพาะป้าหอเราเอง) ทั้งๆ ที่เราอาจจะไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ นี่คือความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมทางภาษากับภายนอกของมหาวิทยาลัย  แต่แน่นอนว่าเราจะชินแล้วฟังรู้เรื่องแน่ๆ แค่นี้เราก็เห็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในมุมของพื้นที่แท้จริงได้อย่างง่ายๆ ต่อมาคือ Relative Space หรือ พื้นที่สัมพันธ์ บางพื้นที่มีเรื่องของความรู้สึกมาเกี่ยวข้องเช่น ความมีกลิ่นอายต่างๆ ซึ่งไม่สามารถจะจับต้องได้อย่างชัดเจน หากยกตัวอย่างในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อีกครั้ง) ก็จะพบว่าจะมีพื้นที่ี่สัมพันธ์ เกี่ยวเนื่องกับตัวมหาวิทยาลัย เช่น พื้นที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนักศึกษา เช่น รับน้องขึ้นดอย กิจกรรมชมรม การชุมนุมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย หรือพื้นที่ของอาจารย์ เช่น การประชุม การบรรยาย และในมหาวิทยาลัยที่พบมากเช่น การเดินเล่นบริเวณอ่างแก้วเพื่อชมบรรยากาศของมหาวิทยาลัย

แล้วคำว่า Size & Scale

             หากพูดถึงคำว่า Size ในภูมิศาสตร์มักใช้ในการบ่งบอกถึงขนาดของพื้นที่นั้นๆ ว่ามีขนาดใหญ่หรือว่ามีขนาดเล็ก ซึ่งจะมีการสอดคล้องไปถึงคำว่า Scale ซึ่งมีความหมายหลากหลายมิติ หากยกตัวอย่างได้แก่ งานด้านแผนที่ก็มีการใช้คำว่า Scale ที่บ่งบอกถึงอัตราการย่อของแผนที่ หรือในอีกนัยหนึ่งคือระดับของพื้นที่ที่แตกต่างกัน อย่างเช่น การแบ่งเขตการปกครองแบบส่วนภูมิภาค ที่มีระดับเขตตั้งแต่หมู่บ้านที่เป็นระดับเล็กที่สุดและไล่ขึ้นมาเป็นระดับตำบล อำเภอ จังหวัด หรือหากเป็นการศึกษาอะไรที่ใหญ่กว่าเพียงแค่การศึกษาประเทศใดประเทศหนึ่งนั้นก็เป็นได้ถึงระดับภูมิภาคและระดับโลกก็ได้ หรือหากยกตัวอย่างในรูปแบบของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ยกตัวอย่างเช่น ระดับมหาวิทยาลัย ระดับคณะ ระดับภาควิชา หรือระดับชั้นปี หรือหากต้องการศึกษาระดับใหญ่กว่าระดับมหาวิทยาลัยก็เช่นในระดับมหาวิทยาลัยในภูมิภาค ระดับประเทศ หรือระดับโลก เหตุที่ Scale มีความสำคัญเช่นนี้เพราะการศึกษาของนักภูมิศาสตร์เองนั้น ต้องให้ความสำคัญอย่างมากถึงระดับของพื้นที่ที่ถูกใช้ในการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับหัวข้อที่ทำการศึกษาและยังต้องหาความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และอื่นๆ เข้าด้วยกันผ่านความแตกต่างของระดับพื้นที่เหมือนส่วนหนึ่งของความหมายของภูมิศาสตร์ที่ Royal Geographical Society ได้ให้ไว้เช่นกัน

Map

Description automatically generated

ตัวอย่างการเปรียบเทียบระดับพื้นที่ด้วยเกณฑ์การแบ่งเขตการปกครองส่วนภูมิภาคระหว่างระดับจังหวัดเชียงใหม่(รูปร่างทั้งหมด) กับอำเภอเมืองเชียงใหม่ (รูปร่างที่มีเส้นสีแดง)

Map

Description automatically generated

ตัวอย่างการเปรียบเทียบระดับพื้นที่ด้วยเกณฑ์การแบ่งเขตการปกครองส่วนภูมิภาคระหว่างระดับตำบลสุเทพ (ขอบสีแดง) กับระดับหมู่บ้าน (จุดสีเหลืองส้ม)

เมื่อภูมิศาสตร์กว้างจนเป็นเป็ด

จากทั้งคำนิยามและมุมมองของผู้คนก็เป็นตัวบ่งบอกแล้วว่า ภูมิศาสตร์มีความกว้างมากทั้งเนื้อหาของวิชาที่เราจะต้องเรียนจากทั้งสองฝั่ง ทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์และทางสังคมศาสตร์ นอกจากนำความรู้เหล่านั้นมาผสานความคิดเพื่อทำสิ่งอื่นแล้ว แนวทางการประกอบอาชีพก็มีความกว้างมากตามไปด้วยเช่นกัน นอกจากนี้การเรียนเเบบเป็ดจะทำให้เราได้ลองทำหลายอย่าง เเละมีองค์ความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้เราค้นพบความชอบเเละความถนัดของตัวเองได้ง่ายขึ้น จากนั้นก็ค่อยศึกษาในเชิงลึกต่อไป

ส่วนตอนนี้ขอเข้าสู่โหมดการขายหลักสูตรนะครับ… ถ้าหากน้องภูมิศาสตร์ 64 ต้องการเรียนลึกๆ ไปถึงแก่นของคำว่าภูมิศาสตร์ ปีนี้ก็จะได้เจออย่างแน่นอนในรายวิชาแรก คือภูมิศาสตร์มนุษย์และภูมิศาสตร์กายภาพ และหากสนใจรายละเอียดแน่น ๆ แบบทะลุปรุโปร่งก็ขอแนะนำให้เข้ามาเรียนในภาควิชาภูมิศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นะครับ สุดท้ายนี้ก็หวังเพียงแต่ว่า ผู้อ่านคงจะมีความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์มากขึ้น สำหรับคนที่ยังไม่เคยเข้าถึงคำว่าภูมิศาสตร์เลย อาจจะได้ลองเปิดใจให้กับวิชานี้สักนิดหน่อยก็ยังดี ่แน่นอนว่าจะไม่จบที่บทความนี้บทความเดียว เเต่บทความต่อไปจะเป็นเรื่องอะไรนั้น รอติดตามได้ที่เพจ Department of Geography, Chiang Mai University ได้เลยครับ

อ้างอิง

ลิวา ผาดไธสง. (2559). เอกสารประกอบการสอน กระบวนวิชา 154103 (ภูมิศาสตร์มนุษย์). เชียงใหม่: ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

อภิชาติ เพชรลีลา. (2556). อยากให้ลมหนาวหวนมาอีกครั้ง (พิมพ์ครั้งที่ 4). ม.ป.ท.: สำนักพิมพ์นกดวงจันทร์.

https://th.wikipedia.org/wiki/มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

https://www.facebook.com/chaya.geography/posts/664890270698894

https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/geography/

https://www.rgs.org/geography/what-is-geography/

แชร์ข้อความ:

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save