CMUGS: ใส่แว่นส่องโลก EP.8 : Southeast Asia Essay Series : สยามมาเลย์ในสังคมพหุวัฒนธรรมมาเลเซีย

สุกัญญา สุขเกษม

นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 2
ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

……………………………………………….

การปักปันเขตแดนนำไปสู่การมีดินแดนที่แน่นอนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเกิดรัฐ-ชาติ [1] อย่างไรก็ดี การปักปันเขตแดนไทย-มาเลเซียทำให้เกิดสิ่งตกค้างทางสังคมและวัฒนธรรมในรูปของกลุ่มคนพลัดถิ่นที่มีชื่อว่า “ชาวสยามมาเลย์” บทความนี้จะวิเคราะห์ความแตกต่างว่าด้วยอัตลักษณ์และการดำรงชีวิตของชาวมาเลเซียเชื้อสายสยามกับการปรับตัวในที่อยู่อาศัยใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับชาวมลายูซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม

ทำไมถึงกลายมาเป็นสยามมาเลย์

ก่อนอื่นเลยเราควรที่จะทราบว่า แรกเริ่มรัฐในประเทศมาเลเซียปัจจุบันที่มีชาวสยามหรือคนไทยอาศัยอยู่ ได้แก่ เกดะห์ (ไทรบุรี) กลันตัน ตรังกานู และเปอร์ลิส เคยอยู่ใต้การปกครองของรัฐไทยมาก่อน แต่ผลจากการลงนามในสนธิสัญญาแองโกล-สยาม หรือสนธิสัญญากรุงเทพ ทำให้ประเทศไทยมอบดินแดนดังกล่าวให้แก่อังกฤษเพื่อรักษาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และเป็นการทำให้อังกฤษช่วยเหลือสยามในการปล่อยเงินกู้เพื่อที่จะมาสร้างทางรถไฟ [4,8] หลังจากนั้น เกิดการปักปันเขตแดนขึ้นอย่างชัดเจนโดยใช้แม่น้ำโก-ลกเป็นเส้นแบ่ง ทำให้ชาวสยามที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำโก-ลกในขณะนั้นต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นที่ไม่สามารถกลับมายังประเทศของตัวเอง พวกเขาจึงได้ชื่อว่าเป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายสยามจนถึงปัจจุบัน

ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมมาเลเซีย

       มาเลเซียนับว่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ โดยจะเป็นแบ่งกลุ่มได้ 3 เชื้อชาติหลักๆ คือ มลายู จีน และอินเดีย [6] โดยกว่าครึ่งหนึ่งจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มลายู จากความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมนี้ นำไปสู่การขาดเอกภาพในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวทางสังคม เช่น เชื้อชาติ ศาสนา การเมืองการปกครอง เป็นต้น

สยามมาเลย์กับสิทธิภูมิบุตร

นโยบายภูมิบุตร (Bumiputera)

นโยบายภูมิบุตรเป็นนโยบายชาตินิยมที่รัฐบาลมาเลเซียกำหนดเพื่อมอบสิทธิพิเศษต่างๆ แก่ประชากรที่เป็นชาวมลายูและชนพื้นเมืองดั้งเดิมของประเทศมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ การเข้าถึงการศึกษาที่ง่ายกว่าประชากรกลุ่มอื่น หรือจะเป็นสิทธิในการถือครองที่ดินที่รัฐบาลสงวนเอาไว้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ โดยกลุ่มที่ถูกละเลยจากรัฐบาลมาเลเซียก็คือประชากรที่มีเชื้อสายจีน และอินเดีย

สยามมาเลย์กับการได้รับสิทธิภูมิบุตร

อันที่จริงแล้วแต่เดิมชาวสยามมาเลย์ไม่ได้ถูกกำหนดอยู่ในกลุ่มประชากรที่มีสิทธิภูมิบุตรมาตั้งแต่แรก เพราะอยู่นอกเหนือข้อกำหนดการเป็นชาวมลายูและการเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม สมาคมสยามมาเลเซียและสมาคมไทยกลันตันเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มชาติพันธุ์สยามมาเลย์ [2] อย่างไรก็ตาม การได้รับสิทธิภูมิบุตรของชาวสยามนั้นยังพบกับข้อจำกัดบางประการเมื่อเทียบกับชาวมลายู ตัวอย่างเช่น การถือครองที่ดินที่ไม่ได้เสรีเทียบเท่า แต่ก็ยังถือว่ามีมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ แต่จากการที่รัฐบาลมาเลเซียให้การดูแลมอบสวัสดิการต่างๆ ให้กับชาวสยามนั้นถือว่าเป็นความพอใจที่ควรจะได้รับแล้ว [5]

สถานการณ์ปัจจุบันของชาวสยามในประเทศมาเลเซีย

       ในปัจจุบันประชากรที่เป็นชาวสยามมาเลย์ราว 50,000 คน [10] ถือว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยมากในประเทศมาเลเซีย โดยจะอาศัยอยู่หนาแน่นภายในรัฐกลันตันและรัฐเกดะห์ [7] ทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย เชื่อมต่อกับทางภาคใต้ของประเทศไทย ชาวสยามที่อาศัยอยู่ที่นี่ส่วนมากจะใช้ชีวิตตามชนบทอย่างเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม-ทำสวนยางพาราเป็นหลัก ไม่สร้างความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในมาเลเซียโดยมีสิทธิในการเป็นภูมิบุตรของประเทศมาเลเซีย [2,10] ประเด็นที่สำคัญ คือ ชาวสยามมาเลย์ที่นี่ธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นชาวสยามอย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษาใต้สำเนียงเจ๊ะเหของไทยเป็นภาษาสื่อสารระหว่างกลุ่ม นับถือศาสนาพุทธ สร้างวัดเอาไว้เป็นศูนย์กลางเพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตใจและเป็นสถานที่สอนภาษาไทย เรียนรู้วัฒนธรรมไทย และที่สำคัญพวกเขายังคงมีการติดต่อกับครอบครัวหรือญาติพี่น้องที่อยู่บนแผ่นดินไทยตลอดมา ไปมาหาสู่กันเป็นปกติจนแทบจะไม่เหมือนว่าอยู่กันคนละประเทศ ทำให้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวสยามไม่ได้จางหายไปตามการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย   

คนสยามกับการดำเนินชีวิตในรัฐกลันตัน

       รัฐกลันตันถือว่าเป็นรัฐที่มีคนสยามอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เล็กๆ แต่พวกเขามีทั้งเสรีภาพและอิสระภาพในการใช้ชีวิต นโยบายของรัฐบาลเปิดให้กลุ่มชาวสยามมาเลย์แสดงออกถึงการมีตัวตนอย่างอิสระ มีความคิดแน่วแน่ในการรักษาศิลปวัฒนธรรมความไทย ภายในรัฐกลันตันมีวัดไทยเป็นจำนวนมาก ผู้คนใช้วัดเป็นที่พึ่งทางจิตใจ เป็นแหล่งทำกิจกรรมต่างๆ ภายในชุมชน แต่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความท้าทายต่างๆ ทั้งผู้คนไม่มีเวลาเข้าวัดหรือมาทำกิจกรรมร่วมกันเหมือนสมัยก่อน

วัดไทยที่เคยมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพสังคมบ้าง ในปัจจุบัน วัดไทยเริ่มมีการผสมผสานความเป็นจีนมากขึ้น เพื่อที่จะรองรับนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาทำรายได้ให้แก่รัฐ แต่กิจกรรมอื่นๆ ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการเรียนภาษาไทยที่วัดในวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะการที่คนสยามพูดได้หลายภาษานั้นได้เปรียบในด้านการใช้ชีวิต และอีกอย่างหนึ่งคือสิทธิต่างๆ ที่รัฐจัดสรรให้กับชาวสยามในรัฐกลันตันก็ไม่ได้ต่างจากคนมาเลเซีย เปรียบคนสยามเป็นคนพื้นเมืองของกลันตันก็ยังได้เพราะเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่หลายชั่วอายุคน ก่อให้เกิดสันติภาพ ความสงบ และยังคงความภูมิใจในตนเอง [7]

ภาพที่ 1 ชาวสยามมาเลย์ในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
ที่มา : https://www.komchadluek.net/news/355192

สรุป

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของชาวสยามที่ต้องกลายมาเป็นคนพลัดถิ่นในประเทศมาเลเซียหลังจากการปักปันเขตแดนยุคอาณานิคม ชาวสยามมาเลย์ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก จึงต้องอาศัยการปรับตัวเพื่ออยู่รอดเพื่ออยู่ร่วมกับผู้คนในพื้นที่ หลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับต่างกลุ่มชาติพันธุ์ [9] แต่ก็ยังคงความเป็นเลือดชาวสยามแบบแรงกล้า [7] มีการส่งเสริมช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐบาลจนมาถึงปัจจุบัน ทำให้เห็นถึงว่าแนวคิดของการเป็นรัฐ-ชาติ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรมตามมามากมาย บทเรียนของชาวสยามมาเลย์ได้สะท้อนการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งการเคลื่อนไหวภายในและระหว่างรัฐ-ชาติ เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้มาซึ่งสิทธิทางวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจอย่างทัดเทียม ท่ามกลางนโยบายของรัฐที่มีแนวโน้มเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติอย่างชัดเจน

อ้างอิง

[1] กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย. ข้อมูลเขตแดน. ค้นจาก https://treaties.mfa.go.th/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%99

[2] เฉลิมชัย โชติสุทธิ์. (2557). Bumiputera: Racial policies in Malaysia. วารสารสารสนเทศ, 1. ค้นจาก  https://so05.tcithaijo.org/index.php/parichartjournal/article/view/43025?fbclid=IwAR0FXPF7S2L5q-EDPBrq9WYWs5iLEwF4B4rmr7ZnFpVkYBATQ9PabFQz8DE

[3] ทัศนาวดี แก้วสนิท. (2559). คนพลัดถิ่น “ไทย” ในมาเลเซียกับการสื่อสารอัตลักษณ์: ข้อค้นพบจากการทบทวนวรรณกรรม. วารสารสารสนเทศ. ค้นจาก https://l.facebook.com/l.php?u=https%3A%2F%2Fso02.tci-thaijo.org%2Findex.php%2Fjcin%2Farticle%2Fdownload%2F69736%2F56617%2F%3Ffbclid%3DIwAR0_tf9kksIkhqeHBe0prBCb3cmBf5cY3Sb_0ulArUDC4tZXynkY-BkDhPw&h=AT3VYkFhmAm9_0lHxwBPxb99fhQIPnBDiQobzpyn9Vp5M_VBvkwd4D__ygq1aeocPmkHiU4GMU5VOXCL7ISJgBiGACEYRnVoaY1LEdYN8oEcPu5_3LdC_AGm3NuB3RRzlQOm

[4] ทวีศักดิ์ ปิ. (2559). 107 ปี สนธิสัญญาแองโกลสยาม ภายใต้ 6 ข้อตกลงในอาณาเขตเหนือดินแดน. ค้นจากhttps://www.fatonionline.com/1901?fbclid=IwAR1tBhqMkbpKdYgl2J7MOntNLj4OXWeGf4_k3nfhgGVVCqI2Dm-tjcPiON8

[5] บทบาททางสังคมและการมีส่วนร่วมในการพัฒนา. ค้นจาก https://kb.psu.ac.th/psukb/bitstream/2010/5950/8/Chapter4.pdf?fbclid=IwAR32ZAL5164lQZcr6q21gEk2Diq1UtyLJV0_K1OCNexRWCPoPXyTDw9t6zI

[6] ประชาคมวิจัย. (2556). การอยู่ร่วมกันของชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย. ค้นจาก http://rescom.trf.or.th/display/keydefault.aspx?id_colum=3274&fbclid=IwAR1WNGGdH4wWpVE786bFU7csNM5cYIW6HwKPIuSr9PPRT1sWTF6I0RPKiqA

[7] ประวัติศาสตร์นอกตำรา. ( 29 มกราคม 2564). “โอรังเซียม” คนสยามกลุ่มสุดท้าย ในมาเลเซีย. ค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=k3voLUXbHww

[8] รู้ทั่วไป Whatever. (2563). คนไทยพลัดถิ่น : ชาวมาเลเซีย เชื้อสายไทย. ค้นจาก https://www.blockdit.com/posts/5ecd28b708928e0c71f25eef?fbclid=IwAR0YNC556GUYoJtZh_-y4G6S-P_P2foEORTUR0fxRbEE1Gf5ZXXQzFm5LUI

[9] วันพิชิต ศรีสุข. (2553). บทบาททางสังคมและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาของคนไทยในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย. ค้นจาก http://www.tnrr.in.th/?page=result_search&record_id=154667&fbclid=IwAR1CXM4PG1NA8NtGj48wDTclW9HLvzEIBQ6HMqb53TIUsIZclqYlH9nTdOU

[10] HatyaiFocus. (2560). อดีตและปัจจุบัน ชาวสยามในมาเลเซีย. ค้นจาก https://www.hatyaifocus.com/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1/426-%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A7-%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99…%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2/

แชร์ข้อความ:

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save