CMUGS: ใส่แว่นส่องโลก EP.6 – เก็บตกจาก Clubhouse ห้อง Climate Talks Thailand : ใครเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ?

ชยา วรรธนะภูติ

…………………………………………….

เมื่อวันเสาร์ที่ 31 กรกฏาคม 2564 ใน Clubhouse ห้อง Climate Talks Thailand หัวข้อ Who Changes the Climate? ใครเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ? มีการพูดคุยในประเด็นที่ว่า ฝรั่งผิวขาวเจ้าอาณานิคมและนายทุนบรรษัทข้ามชาติ คือผู้ร้ายตัวจริงที่ก่อให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้สร้างระบบโครงสร้างที่ทำให้เราทุกติดกับและกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำถามคือ ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อคาดการณ์ความรุนแรงของสภาพอากาศในปี 2050 นักสังคมศาสตร์จะเรียนรู้อะไรจากการย้อนสำรวจประวัติศาสตร์โลกเมื่อกว่าสามร้อยปีที่ผ่านมา

ที่แน่ๆ สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นกระจกสะท้อนถึงสังคมที่เปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ดังนั้น การจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจจะต้องมาเริ่มที่การแก้ปัญหาสังคมเสียก่อน

รายละเอียดจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามบทสรุปด้านล่างนี้

********

เนื้อหาใน EP.4 ของ อ. เผ่าไทย ได้วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงความ(ไม่)เป็น “การเมือง” เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปแล้ว เนื้อหาใน EP นี้ จะชวนผู้อ่านทำความเข้าใจ “การเมือง” ในอีกมิติหนึ่งผ่านการสรุปประเด็นจาก Clubhouse ในห้องชื่อว่า Climate Talks Thailand [1] ประจำวันเสาร์ที่ 31 กรกฏาคม 2564 ในหัวข้อ Who Changes the Climate? ใครเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ?

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเข้าไปฟังห้องนี้ บอกได้เลยว่าน่าจะเป็นการคุยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกลุ่มคนไทยที่เจ๋งที่สุดเท่าที่เคยฟังมา ต้องขอบคุณพี่แพรด้วยที่ชวนเข้าไปฟัง

การพูดคุยกันครั้งนี้ กินระยะเวลาประมาณเกือบ 3 ชั่วโมง ประกอบด้วยผู้บรรยาย 7 คน ส่วนมากมีพื้นฐานด้านสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีการเปิดประเด็นว่า การใช้ชีวิตประจำวันของเราทุกคน มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่ภาวะโลกร้อน และโลกรวน กลายเป็นว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่คำถามคือ มันมี “อะไร” ที่ใหญ่กว่านั้นที่ทำให้เราติดกับและกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“อะไร” ที่ว่านั้น ก็คือ การล่าอาณานิคม ทุนนิยม และปิตาธิปไตย ซึ่งเป็นธีมสำหรับการพูดคุยครั้งนี้

ประเด็นที่จะสรุปให้ดังต่อไปนี้เป็นการตีความตัดต่อและเรียบเรียงเนื้อหาใหม่ตามความเข้าใจของตัวเอง ดังนั้นจะไม่สามารถเก็บได้ครบทุกประเด็น ต้องยอมรับว่าเนื้อหาลึกและดีมากๆ และขอชื่นชมผู้บรรยายทุกคน หลังจากสรุปประเด็น (ข้อ 1-10) ผมจะเพิ่มเติมความคิดเห็นของตัวเองไปด้วย (ข้อ 11-18)

  1. การล่าอาณานิคมเกี่ยวอะไรกับปัญหาสิ่งแวดล้อม? ย้อนกลับไปเมื่อสองสามร้อยปีที่แล้ว ชาวยุโรปเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทวีปแอฟริกา อินเดีย อเมริกาใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ พวกเขาได้เข้าไปเบียดเบียนคนพื้นเมือง ปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ ยึดครองทรัพยากร ปรับวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เข้ากับของตน ทั้งหมดเพื่อกอบโกยทรัพยากรและแรงงานเข้าสู่ประเทศเจ้าอาณานิคม พร้อมกับกดขี่ให้คนพื้นเมืองอยู่ใต้อำนาจปกครอง ทำให้เกิดและตอกย้ำความไม่เท่าเทียมในระดับการพัฒนา

  2. การล่าอาณานิคมไม่สามารถตัดขาดได้จากเรื่องของความรู้วิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นในยุคเรืองปัญญา (Enlightenment period) ที่พยายามขจัดความเชื่อลึกลับ เรื่องของเทพเจ้า ภูติผีและแม่มดที่ไม่สามารถอธิบายหรือพิสูจน์ได้ ความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่จึงอธิบายความเป็นไปของโลกด้วยการวัด ชั่ง ตวง เพื่อนำหลักฐานมาพิสูจน์ทฤษฎีต่างๆให้เป็นประจักษ์ ในสายตาของเจ้าอาณานิคมผู้เดินทางไปยังต่างแดนด้วยการมองโลกแบบวิทยาศาสตร์ จึงมองเห็นที่ดินเป็นเพียงวัตถุ จุดหรือตำแหน่งบนแผนที่ ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งที่ชาวยุโรปเดินทางไปยังดินแดนที่ปัจจุบันเรียกว่าออสเตรเลีย พวกเขามองว่าดินแดนแห่งนี้เป็น terra nullius หรือ ดินแดนอันรกร้างว่างเปล่า ปราศจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และปราศจากผู้คน นอกจากนั้น ยังปฏิเสธหรือมองว่าความเชื่อและจักรวาลวิทยาของคนพื้นเมืองนั้นไร้สาระ

  3. จากมุมมองของสตรีนิเวศนิยม (ecofeminism) เห็นว่า การเข้ามาของคนขาวจากโลกตะวันตกที่มาขูดรีดที่ดินและทรัพยากรในต่างแดนนั้น เปรียบได้กับผู้ชายที่เข้ามา “penetrate” มดลูกของผู้หญิง แถมยังไม่สนใจใยดีว่าเธอจะรู้สึกอย่างไร ด้วยสายตาอันห่างเหินและหยาบกระด้างของผู้ชาย ทำให้ที่ดินและทรัพยากรถูกลดทอนให้เหลือเพียงวัตถุที่รอให้ผู้ที่แข็งแกร่งกว่าเข้ามาครอบครองเป็นสมบัติส่วนตัว และถูกลดทอนให้ทำหน้าที่เพียงการผลิต (production) และสืบพันธุ์ (reproduction) เท่านั้น และนี่เอง ก็คือการปกครองแบบปิตาธิปไตย (patriarchy) โดยผู้ชายผิวขาวจากยุโรปที่มองว่าพวกเขามีอำนาจและสิทธิ์อยู่เหนือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองและอยู่เหนือธรรมชาติ

  4. ปิตาธิปไตยสะท้อนถึงภววิทยาและญาณวิทยาในการมองโลกแบบเป็นคู่ตรงข้าม และการจัดลำดับศักดิ์ เช่น ผู้ชายตรงข้ามกับหญิง สังคมมนุษย์ตรงข้ามกับธรรมชาติ คนผิวขาวตรงข้ามกับคนผิวดำ เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้ คู่กรณีฝ่ายหลัง (ผู้หญิง ธรรมชาติ คนผิวดำ) ถูกจัดวางตำแหน่งทางสังคมให้ด้อยกว่าเสมอ กรอบคิดแบบคู่ตรงข้ามและการจัดลำดับศักดิ์จึงเป็นเครื่องมือและข้ออ้างสำคัญให้การกดขี่ขูดรีดมีความชอบธรรม ดังนั้น การล่าอาณานิคม องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ และปิตาธิปไตยจึงเป็นทั้งเงื่อนไขและกระบวนการของกันและกัน ยิ่งยึดครอง ก็ยิ่งเป็นการแผ่ขยายและผูกขาดภววิทยาและญาณวิทยาในการอธิบายและปกครองโลกใบนี้

  5. ในยุคปัจจุบัน การล่าอาณานิคมเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาไปเป็นระบบทุนนิยม และเสรีนิยมใหม่ไปแล้ว เห็นได้จากบทบาทของนายทุนข้ามชาติที่เข้ามากว้านซื้อที่ดินให้เป็นบ้านจัดสรร หรือเสาะหาแหล่งน้ำมันดิบเพื่อขายน้ำมัน เมื่อที่ดินหรือแหล่งน้ำมันกลายเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลไปแล้ว จึงทำให้ผู้คุมปัจจัยการผลิตสามารถจะทำอะไรก็ได้เพื่อผลประโยชน์เชิงธุรกิจ ระบบทุนนิยมที่กดขี่เพื่อนมนุษย์ผ่านการล่าอาณานิคมและปิตาธิปไตยเช่นนี้ ผู้บรรยายเรียกว่า racial patriarchal capitalism หรือ Eurocentric patriarchal capitalism

  6. การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเข้มข้นตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของเรายิ่งต้องพึ่งพาน้ำมัน ถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ เพื่อการผลิตพลังงานไฟฟ้า การเดินทาง การขนส่ง รวมถึงการประกอบอาหาร หรือกล่าวอีกทางคือ โครงสร้างทำให้ชีวิตประจำวันของเราติดอยู่ในวัฏจักรการใช้พลังงานคาร์บอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (carbon lock-in) ยิ่งมีความต้องการมาก ก็ยิ่งต้องเสาะหาทรัพยากรมาเพื่อตอบสนองความต้องการ ทำให้เจ้าของธุรกิจน้ำมันหรือถ่านหินทรงอำนาจขึ้นเรื่อยๆ และพวกเขาก็ต้องการรักษาอำนาจในการปกครองและจัดการทรัพยากรแบบผูกขาดเช่นนี้ต่อไป

  7. สรุปแล้วใครทำให้อากาศเปลี่ยนแปลง? ทุกคนในปัจจุบันมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งนั้นในฐานะผู้บริโภค แต่ต้องไม่ลืมว่าที่เราตกอยู่ในสภาพติดกับเช่นนี้ ก็เพราะฝรั่งผิวขาวเจ้าอาณานิคมในอดีตและนายทุนบรรษัทข้ามชาติในปัจจุบัน ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่า ระบบโครงสร้างทางการเมืองและทางเศรษฐกิจทุนนิยมที่กดขี่ขูดรีดนั้นเป็นทั้งเงื่อนไขและกระบวนการสำหรับการแผ่ขยายภววิทยาและญาณวิทยาแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ การมองโลกแบบคู่ตรงข้ามและปิตาธิปไตย ดังนั้น ความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเกิดขึ้นจากผู้คุมปัจจัยการผลิตที่สืบทอดความคิดและระบบโครงสร้าง โดยที่มีพวกเราคนธรรมดาติดอยู่ในระบบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นเรื่องยากที่จะ “ย้ายค่าย” ไปใช้พลังงานอื่นที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล

  8. อะไรคือทางออก? ผู้บรรยายเสนอว่า ต้องปลดแอกและต่อต้านระบบทุนนิยมที่กดขี่ผู้คน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรื้อถอนรากทางอาณานิคมไปพร้อมๆกัน นั่นคือ degrowth และ decolonize ซึ่งจะเป็นหัวข้อสำหรับการพูดคุยครั้งต่อไป

  9. แต่นั่นยังไม่พอ จะต้องรื้อถอนความรู้วิทยาศาสตร์ที่มองโลกแบบเป็นคู่ตรงข้าม มีการนำเสนอแนวคิดแบบ queer ecology ที่มองว่าการกำหนดหน้าที่ผู้ชายผู้หญิงเป็นสิ่งสร้างทางสังคม ทั้งๆ ที่หากมาดูกลไกในระบบธรรมชาติ หรือโลกทัศน์ของกลุ่มวัฒนธรรมบางกลุ่มจะเห็นว่า หน้าที่และบทบาททางเพศอยู่ในความเลื่อนไหล พร่าเลือนและไม่ตายตัว ในภาพกว้าง queer ecology รวมถึงแนวคิดเรื่อง หลังมนุษย์นิยม (posthumanism) สมัยมนุษย์ผันผวนโลก (anthropocene) [2] และ ยุคที่ระบบทุนนิยมครองโลก (capitalocene) จึงพยายามรื้อถอนวิธีการอธิบายของธรรมชาติจากมุมมองของวิทยาศาสตร์ตะวันตก และเสนอให้ทบทวนตำแหน่งแห่งที่และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเสียใหม่ ว่ามนุษย์ไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล แต่เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งที่ยังต้องพึ่งพาการมีอยู่ของสิ่งอื่นๆ มนุษย์ (โดยเฉพาะผู้ชายผิวขาว) จึงควรเคารพในพลังของธรรมชาติและสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ให้มากกว่านี้ พร้อมกับเคารพและเรียนรู้จากมนุษย์กลุ่มอื่นๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยปรัชญาเชิงสัมพันธ์ที่ไม่แบ่งคู่ตรงข้าม

  10. เมื่อจัดวางปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลงในบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจและการเมืองการปกครอง จึงทำให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงจำกัดอยู่แค่การลดก๊าซเรือนกระจก หรือ การบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เพราะรากของปัญหามาจากความไม่เท่าเทียมทางสังคม ความอยุติธรรมทางการเมือง ทางองค์ความรู้ และทางระบบโครงสร้าง ที่ก่อให้เกิดผู้ที่ได้เปรียบและเสียเปรียบจากขบวนการเหล่านี้ตั้งแต่แรก ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันจึงไม่ใช่ปัญหาทางกายภาพที่อยู่นอกปริมณฑลของสังคม หากแต่เกิดขึ้นจากโลกทัศน์ของคนบางกลุ่มและปฏิบัติการของสถาบันที่คับแคบ ดังนั้นการจะทำให้เกิด climate justice ได้ก็ต้องไปเริ่มที่ social justice เสียก่อน

  11. ต่อไปนี้คือความคิดเห็นส่วนตัวที่เสริมเพิ่มเติมจากในห้องสนทนา เราเริ่มต้นถามว่า “ใคร” ทำให้อากาศเปลี่ยน แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ภูมิอากาศที่พัวพันอยู่ในเรื่องราวทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและการเมืองนั้น เปลี่ยนไปอย่างไร ในลักษณะใด

  12. เสริมกับเนื้อหาในข้อ 1 เรื่องการล่าอาณานิคมที่เข้ามาเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ จริงๆ แล้วภูมิอากาศก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินหรือจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของผู้คนเช่นกัน (environmental determinism) และก็เป็นความคิดที่เอื้อให้เกิดการล่าอาณานิคมด้วยเช่นกัน ในสมัยกรีกโบราณ ภูมิอากาศที่ไม่ร้อนไม่หนาวเกินไปของกรีซ ถูกใช้ในการอธิบายความเฉลียวฉลาดของผู้คน รวมถึงความเจริญรุ่งเรืองทางการเกษตร การค้าขายและการทหาร ในขณะที่อากาศที่ร้อนเกินไปแถบแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ผู้คนเกียจคร้าน โง่เขลา และสกปรก จึงเป็นเหตุผลให้นักล่าอาณานิคมจากโลกตะวันตกต้องการปกครองคนพื้นเมือง สร้างความศิวิไลซ์และเอาชนะภูมิอากาศด้วยความรู้วิทยาศาสตร์และการแพทย์สมัยใหม่ ในกรณีนี้ ภูมิอากาศจึงดำรงอยู่ในฐานะจินตนาการและวาทกรรมทางการเมือง

  13. เสริมเนื้อหาในข้อ 2 เรื่องบทบาทของความรู้วิทยาศาสตร์ ปัจจุบันสถานีตรวจวัดอากาศ รวมถึงความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยาและภูมิอากาศวิทยา ได้เปลี่ยนและลดทอนให้เรื่องเล่าและตำนานประจำถิ่นเกี่ยวกับเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนท้องฟ้า กลายมาอยู่ในรูปของข้อมูลสถิติ สมการ กราฟและแผนภาพ ที่เป็นสากลและสามารถเดินทางได้ทั่วโลก ท้องฟ้าอากาศถูกทำให้บริสุทธิ์และว่างเปล่า หรือที่เรียกว่า aer nullius [3],[4] และการศึกษาอากาศในเชิงวิทยาศาสตร์นี้เอง จึงทำให้มองไม่เห็นต้นตอปัญหาจากการล่าอาณานิคม หลังจากการยุบสลายภูมิอากาศระดับท้องถิ่นและรวมให้เป็นอากาศระดับโลกผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แล้ว กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ก็ได้ใส่ความหมายใหม่เข้าไป คือ ภูมิอากาศระดับโลกหนึ่งเดียวที่เปลี่ยนแปลงอย่างที่ทุกคนต้องกังวลร่วมกัน ในกรณีนี้ ภูมิอากาศจึงดำรงอยู่ในฐานะวัตถุทางกายภาพที่มีอำนาจในการจัดระเบียบความคิดและพฤติกรรม ผ่านปฏิบัติการของสถาบันระดับโลกที่แฝงคุณค่าเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนและเท่าเทียม

  14. การที่ภูมิอากาศเข้าไปพัวพันอยู่ในเรื่องราวทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมืองและเทคโนโลยีนั้น ได้ทำให้อากาศเป็นทั้งสิ่งทางกายภาพและมโนทัศน์ทางสังคมในเวลาเดียวกัน เป็นทั้งสิ่งที่สัมผัสได้ทันทีและสิ่งที่อยู่ในรูปของภาพแทนและวาทกรรมไปพร้อมๆ กัน อากาศได้กลายเป็นสิ่งที่ท้าทายความคิดแบบคู่ตรงข้าม มีความเลื่อนไหลในเชิงสถานะ เชิงพื้นที่ และเชิงเวลา ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ภาพยนตร์ เรื่อง “15 ค่ำ เดือน 11” เรื่องของบั้งไฟพญานาคที่เป็นทั้งมิติทางวัฒนธรรมท้องถิ่นและวิทยาศาสตร์สากลในเวลาเดียวกัน

  15. เสริมเนื้อหาในข้อที่ 8 และ 9 ซึ่งจริงๆ ผู้บรรยายก็ได้กล่าวไว้บ้างแล้ว คือการเริ่มต้นที่ singular climate ในฐานะภูมิอากาศหนึ่งเดียวที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน และจบด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับลมฟ้าอากาศประจำถิ่นอันหลากหลาย หรือ many weather stories ในความคิดส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่องยากมากที่ทุกคนจะกังวลและรับผิดชอบร่วมกัน เพราะแต่ละชุมชนและแต่ละคนเผชิญกับปัญหาในชีวิตแตกต่างกัน  บ้างต้องการหลุดพ้นความยากจน บ้างต้องการทำกำไรจากธุรกิจเสียก่อนจะมากังวลเรื่องอากาศ นอกจากนั้น คำว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมักถูกวาดภาพให้เป็นอะไรที่ไกลตัว  เช่น เรื่องหมีขั้วโลก จะดีอย่างยิ่งหากวรรณกรรม งานศิลปะ และสื่อช่วยกันทำให้เรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงลมฟ้าอากาศและฤดูกาลเชื่อมกับภูมิทัศน์หรือสัญลักษณ์ประจำถิ่น เช่น ดอยสุเทพ แม่น้ำเจ้าพระยา หรือ โรงเรียนอันเป็นที่รัก ทั้งนี้เพื่อทำให้เห็นภาพว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างไร เราไม่ต้องการเรื่องเล่าเรื่องเดียวที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจ แต่เราต้องการเรื่องเล่าหลายเรื่องที่ปรับจูนให้เหมาะสมต่อคนแต่ละกลุ่ม

  16. วงการการศึกษามิติทางสังคมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย กำลังก้าวไปสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เพราะก่อนหน้านี้เมื่อเกือบ 20 ที่แล้ว เน้นการศึกษาด้านความเสี่ยง ผลกระทบและการปรับตัว นำโดยกลุ่มของอาจารย์ศุภกร ชินวรรโณ ซึ่งถือเป็นงานชุดบุกเบิกที่มีคุณูปการสูงมากๆ [5] แต่การวิเคราะห์และตกผลึกประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของผู้บรรยายในห้อง Climate Talks Thailand จากมุมมองแบบมากซิสต์ หลังโครงสร้างนิยม สตรีนิเวศนิยม และหลังมนุษย์นิยมนั้น ทำให้เห็นถึงความสำคัญของทฤษฎีทางสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา ที่สามารถผลักดันไปถึงการวิเคราะห์ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเชิงโครงสร้าง ความไม่เท่าเทียม และตั้งคำถามเชิงจริยธรรมว่าด้วย ตำแหน่งแห่งที่และบทบาทของมนุษย์ในฐานะส่วนหนึ่งของจักรวาล นี่เป็นวิธีวิเคราะห์ที่ถือว่าทันสมัยทัดเทียมกับในระดับนานาชาติแล้ว ต้องขอบคุณผู้บรรยายที่พาเรามาถึงจุดนี้ ขอเชิญชวนผู้อ่าน (หากอดทนอ่านมาถึงตรงนี้) ให้ติดตามห้อง Climate Talks Thailand กันเยอะๆ นะครับ

  17. อากาศที่เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงเพราะสังคมมนุษย์เปลี่ยนไป อากาศได้กลายเป็นกระจกที่สะท้อนถึงจินตนาการอันหลากหลายของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติ ที่สำคัญ ควรใช้การเปลี่ยนแปลงของอากาศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและ สิ่งแวดล้อม เป็นเงื่อนไขให้แต่ละกลุ่มคิดทบทวนว่า จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ฉันจะปลูกพืชอะไรดีที่ทนร้อนทนฝน ฉันจะออกแบบบ้านอย่างไรให้ประหยัดพลังงาน ฉันจะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของบริษัทใดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น ในเมื่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-สิ่งแวดล้อมสอดแทรกอยู่ในการเมืองของชีวิตประจำวันพวกเราทุกคนอยู่แล้ว ดังนั้น แนวทางการพัฒนาของชุมชนจะต้องเป็นมากกว่าเรื่องของอากาศเสียเอง  และควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและความเท่าเทียมทางสังคมเป็นอันดับแรก
                 
  18. [พื้นที่โฆษณา] การจะเข้าใจภาพองค์รวมทั้งหมดของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควรศึกษาอย่างบูรณาการทั้งในมิติด้านวิทยาศาสตร์ สังคม นโยบาย และการเมือง เนื้อหาทั้งหมดสามารถพบได้ในวิชา 154352 ภูมิอากาศวิทยา เปิดสอนโดยภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อ้างอิง

[1] https://www.clubhouse.com/club/climate-talks-thailand

[2] ตรงใจ หุตางกูร และ นัทกฤษ ยอดราช. 2564. แอนโธรพอซีน. ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร. https://www.sac.or.th/main/th/article/detail/224

[3] Todd, Z. 2016. An Indigenous Feminist’s Take On The Ontological Turn: ‘Ontology’ Is Just Another Word For Colonialism. Journal of Historical Sociology, 29: 4– 22. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/johs.12124

[4] The Distance Plan. n.d. Atmosphere as ‘aer nullius’.
https://thedistanceplanlexicon.org/ATMOSPHERE-AS-AER-NULLIUS

[5] สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. ม.ป.ป. การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กับยุทธศาสตร์การพัฒนา.
 http://www.thailandadaptation.net/

แชร์ข้อความ:

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save