CMUGS EP15: ทางเลือกของเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน Series: ท่าอากาศยานนานาชาติเบตงกับการพัฒนาเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว
.
คอลิค เหมแก้ว
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
—-
ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง หรือ สนามบินเบตง ที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในสื่อสาธารณะ หลังจากเที่ยวบินรอบปฐมฤกษ์ของสายการบินนกแอร์ จากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเบตง เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ได้ถูกยกเลิกการบินชั่วคราวในเวลาต่อมา (Peeranut P., 2565) จึงเป็นข้อสงสัยต่อคนในสังคมมากมายว่าท่าอากาศยานใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน กลับไม่มีสายการบินไหนต้องการที่จะเปิดเที่ยวบิน บทความนี้จะมาทำความเข้าใจว่า ทำไมสนามบินเบตงมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างไร ทำไมถึงเกิดปัญหา และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) มีความเกี่ยวข้องกับโครงการนี้และจะทำให้สนามบินเป็นทางเลือกของเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
อำเภอเบตงอยู่ที่ไหน ? แล้วทำไมถึงสำคัญขนาดนั้น ?
อำเภอเบตง เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดยะลา อยู่ทางบริเวณทางตอนใต้สุดของจังหวัดยะลาและถือว่าเป็นอำเภอที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย มีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวมาตลอดเพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่แล้วเป็นทุนเดิม และถือว่าเป็นพื้นที่หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นน้อยอย่างมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ข้อมูลจาก DeepSouthWatch Database พบว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงทุกประเภทในอำเภอเบตงเพียงแค่ 1-3 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 – มกราคม 2565 (ยกเว้นเดือนธันวาคม 2564 ที่ไม่มีข้อมูล) (Deep South Watch, 2564-2565) และการค้าชายแดนมีปริมาณสูงมากกับประเทศมาเลเซีย โดยด่านศุลกากรกรเบตงมียอดการส่งออกและนำเข้าเป็นอันดับสามของการค้าชายแดนกับประเทศมาเลเซียรองด่านศุลกากรสะเดาและด่านศุลกากรปาดังเปซาร์ ด้วยมูลค่าการส่งออก 3,000 ล้านบาทเศษในปี 2564 (กรมการค้าระหว่างประเทศ, 2564) นอกจากนี้ อำเภอเบตงมีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและทางประวัติศาสตร์อยู่ในอำเภอเดียวกัน เช่น อุโมงค์ปิยะมิตรซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาในอดีต (“อุโมงค์ปิยะมิตร”, 2565) หรือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น น้ำพุร้อนเบตงหรือป่าฮาลาบาลา และ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและสังคม เช่น วัดพุทธาธิวาส เป็นต้น
แล้วทำไมท่าอากาศยานนานชาติเบตงถึงสามารถพัฒนาเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของอำเภอได้ ?
ลักษณะภูมิประเทศของอำเภอเมืองเบตงอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก ด้วยลักษณะเป็นภูเขาสลับซับซ้อนและมีระยะทางที่ค่อนข้างไกลในการเดินทางจากอำเภอเมืองถึง 124 กิโลเมตร ด้วยระยะเวลาเกือบ 2.5 ชั่วโมงทางรถยนต์กับเส้นทางที่คดเคี้ยว เทียบกับการที่เดินทางข้ามจังหวัดจากอำเภอเมืองจังหวัดยะลา ไปยังอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่มีระยะทาง 132 กิโลเมตร และใช้ระยะเวลาเดินเพียง 2 ชั่วโมงนอกจากนี้ยังพบอุปสรรคต่อการท่องเที่ยวก่อนที่จะเข้าสู่อำเภอเบตงได้แก่ เส้นทางที่ต้องเดินทางจากอำเภอเมืองยะลาไปถึงอำเภอเบตงต้องผ่านอำเภอที่ถูกนำเสนอจากสื่อว่าพบเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ค่อนข้างบ่อย อาจทำให้นักท่องเที่ยวที่มีความตั้งใจที่จะไปท่องเที่ยวเกิดความลังเลแล้วเลือกที่จะไปท่องเที่ยวพื้นที่อื่น เช่น อำเภอบังนังสตาที่บนฐานข้อมูล DeepSouthWatch : DSW Database พบว่าระหว่างเดือนมกราคม 2564 – มกราคม 65 อำเภอบังนังสตาอำเภอเดียวมีช่วงของจำนวนการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทุกรูปแบบระหว่าง 15 – 36 ครั้ง หรือโดยเฉลี่ยทุกเดือนจะต้องมีเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 1 ครั้งต่อเดือน (Deep South Watch, 2564-2565) ซึ่งถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับอำเภอข้างเคียง เช่น อำเภอกรงปินัง อำเภอธารโต ที่ทางหลวงแผ่นดินสาย 410 ที่เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางไปยังอำเภอเบตง

ที่มา : Google Map
ดังนั้น การเปิดดำเนินการของท่าอากาศยานนานาชาติเบตงถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ช่วยร่นระยะเวลาจากการที่ต้องเดินทางต่อจากท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ หรือท่าอากาศยานนราธิวาสได้มาก ย่อมเป็นการลดอุปสรรคทั้งในเรื่องระยะเวลาในการเดินทาง รวมถึงเป็นการลดความกลัวของนักท่องเที่ยวอีกด้วย ทำให้อำเภอเบตงกลายเป็นตัวเลือกในการท่องเที่ยวได้เช่นกันหากมองในมุมมองของทฤษฎีการสึกกร่อนระยะทาง ที่กล่าวว่า “ปฏิสัมพันธ์แปรผันตรงตามระยะทางโดยใช้กฎของความพยายามที่น้อยที่สุด” (เสน่ห์ ญาณสาร, 2542, น. 44-45) ซึ่งหากเรายิ่งลดเรื่องของความไกลและยากลำบากทั้งในเรื่องของระยะเวลาการเดินทาง และความรู้สึกหวาดกลัวต่อเส้นทางและเหตุการณ์ความไม่สงบ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่อำเภอเบตงจะดึงดูดการท่องเที่ยวได้มากขึ้นกว่าในอดีต
ทำไมถึงเกิดปัญหาการยกเลิกเที่ยวบิน ?
การยกเลิกเที่ยวบินหลังการเที่ยวบินปฐมฤกษ์ถือว่าเป็นเรื่องที่พบได้ยาก แต่ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกในกรณีของอำเภอเบตง หากเราทำการวิเคราะห์พื้นที่ของอำเภอเบตงโดยมองที่แบบจำลองฮอฟกินส์ (Model of Tourism Development : Hawkins Model) ที่กล่าวไว้ว่า “ทัศนคติของนักท่องเที่ยวว่ามีการเปลี่ยนแปลงเชิงลบมากขึ้นตามเวลา และยิ่งหากถึงขอบเขตเพดานที่สามารถรับนักท่องเที่ยวก็จะยิ่งเกิดปัญหาในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวนั้นก็จะยิ่งได้รับผลกระทบในเชิงลบมากขึ้นไปกว่าเดิม” (GEOGRAPHY MYP/GCSE/DP, ม.ป.ป.)ซึ่งหากมองอย่างไม่เข้าข้างมากเกินไปจะพบว่าความพร้อมในการรับนักท่องเที่ยวยังค่อนข้างน้อยอยู่เมื่อเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในภาคใต้ สถานที่ท่องเที่ยวที่ยังมีจำนวนน้อยไป ท่าอากาศยานที่ค่อนข้างมีขนาดเล็กและขาดอุปกรณ์ในการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง การพัฒนาอำเภอรอบข้างอำเภอเบตงที่ยังน้อยและไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนมากเพียงพอให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเสริมจากอำเภอเบตง รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นทีี่่อาจจะสร้างความกลัวให้กับนักท่องเที่ยวที่อยู่นอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นได้
ส่วนปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ เศรษฐกิจที่ค่อนข้างฝืดเคืองที่เป็นผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงปัจจัยที่เบตงเป็นอำเภอที่ติดกับชายแดนมาเลเซีย การที่ไม่เปิดพรมแดนเนื่องด้วยปัญหาเชื้อไวรัสโควิด -19 ทำให้ผู้ใช้งานท่าอากาศยานอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไม่ตรงตามเป้าที่วางไว้ และอาจจะส่งผลให้ผู้ที่อยากท่องเที่ยวนั้นเลือกตัดสินใจที่จะเลือกไม่ท่องเที่ยว รวมถึงราคาของบัตรโดยสารที่สูงมากเมื่อเทียบกับสนามบินใกล้เคียง จากราคาของบัตรโดยสารเริ่มต้นที่ 3,200 บาท สำหรับการเดินทางเที่ยวเดียว ไม่รวมบริการน้ำหนักของสัมภาระ ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับราคาจากท่าอากาศยานดอนเมืองกับท่าอากาศยานหาดใหญ่ที่มีราคาถูกกว่าซึ่งมีราคาต่ำสุดในไตรมาส 4 ปี 2564 ที่ราคา 390 บาท (สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, 2564) เพราะฉะนั้น นักท่องเที่ยวอาจใช้ส่วนต่างของราคาบัตรโดยสารนั้นอาจจะใช้เพิ่มเป็นบริการอื่นๆ ได้ เช่น ค่าน้ำหนักสัมภาระ ค่าบัตรโดยสารจากหาดใหญ่ – เบตง เป็นต้น หากรวมทั้งหมดแล้วอาจจะมีราคาถูกกว่าบัตรโดยสารที่บินตรงมายังท่าอากาศยานนานาชาติเบตง หรือการที่ท่าอากาศยานเองขาดงบประมาณในการใช้จ่ายเพื่อการบริหารสนามบินที่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะจัดสรรจากที่ใดด้วยเช่นกัน (ศูนย์ข่าวภาคใต้, 2565)
แล้วทำไมท่าอากาศยานนานาชาติเบตงถึงมีความเกี่ยวข้องกับ SDGs ?
จากรายงานพบว่าการเปิดทำการของท่าอากาศยานนานาชาติเบตงมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกัน ว่าคนจะมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย ตัวชี้วัดย่อยที่ 3.6 ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2563 (ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move, ม.ป.ป.) ผู้เขียนคาดหวังว่าการเสริมโครงข่ายการจราจรทางอากาศให้ครอบคลุมมากขึ้น เนื่องด้วยการเดินทางด้วยอากาศยานมีความปลอดภัยมากกว่า และจะทำให้มีแนวโน้มของอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนลดลง นอกจากนี้ ยังมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายที่ 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุม และยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม ในตัวชี้วัดย่อย 9.1.2 ปริมาณผู้โดยสาร และสินค้าที่ขนส่ง จำแนกตามรูปแบบการขนส่ง (ดวงจันทร์ วรคามิน, 2560, น. 13) ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเช่นเดียวกันกับการมีท่าอากาศยานานานชาติเบตงเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมการโดยสารและการขนส่งทางอากาศยานมากขึ้น และเป้าหมายที่ 16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคุลมในทุกระดับ ตัวชี้วัดย่อยที่ 16.1. ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญ (ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move), ม.ป.ป.) ภาครัฐคาดหวังว่าท่าอากาศยานนานาชาติเบตงจะมีส่วนในการ ลดความตึงเครียดในพื้นที่จากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการนำเรื่องเศรษฐกิจและสังคมผ่านการท่องเที่ยวนำเรื่องการทหารและการปราบปรามโดยใช้กำลัง และการที่สนามบินยังเปิดใช้ได้ไม่เต็มที่ ซึ่งอาจจะกระทบเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ เช่น เป้าหมายที่ 3 ที่ต้องการจะลดการตายจากอุบัติเหตุจากการจราจร หรือเป้าหมายที่ 9 ที่ปริมาณของผู้โดยสาร และสินค้าในการส่งทางอากาศมีจำนวนลดน้อยลงจากการใช้ความสามารถของสนามบินไม่เต็มที่
อนาคตของสนามบินเบตง
การมีอยู่ของท่าอากาศยานนานาชาติเบตงช่วยพัฒนาเศรษฐกิจทางด้านการท่องเที่ยว แต่ต้องมีการปรับปรุงในหลายจุด เช่น การพัฒนาตัวอำเภอเมืองเบตงและพื้นที่อำเภอข้างเคียงเพื่อรองรับการท่องเที่ยวและเพิ่มแรงดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวจากต่างพื้นที่มากขึ้น การปรับราคาและเส้นทางการเดินทางด้วยอากาศยานที่อาจจะต้องให้ถูกลงและเหมาะกับกับท่าอากาศยานร่วมกับการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น เช่น การเพิ่มรถสาธารณะหรือรถเช่าให้มากขึ้น หรือสิ่งอำนวยความสะดวกเรื่องของน้ำมันของอากาศยานและความยาวของทางขับ รวมถึงต้องพยายามทำให้เกิดการท่องเที่ยวและสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซียเพื่อเร่งให้ท่าอากาศยานถูกใช้งานมากขึ้นและอยู่ในจุดคุ้มทุนในการดำเนินการ ผู้เขียนก็หวังว่าท่าอากาศยานนานาชาติเบตงจะถูกใช้งานและกระตุ้นเศรษฐกิจและความสงบสุขในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนรวมถึงลดปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่ากับภาษีที่ต้องเสียไปในการก่อสร้าง
บรรณานุกรม
[1] กรมการค้าระหว่างประเทศ. (2564). รายงานสถิติการค้าชายแดนผ่านแดน ปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) ค้นจาก
[2] ดวงจันทร์ วรคามิน. (2560). “สำรวจสถานะของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทประเทศไทย และทางเลือกมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ สังคม และกฎหมาย” เป้าหมายที่ 9 (รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพฯ: ม.ป.พ.
[3] ศูนย์ข่าวภาคใต้. (2565, 20 มีนาคม ). ไม่ใช่แค่ไร้เที่ยวบินมาลง สนามบินเบตงยังไร้งบอุดหนุน 2 ปีแรก!. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์].isranews. ค้นจาก
https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/107441-suspendflight.html
[4] ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move). (ม.ป.ป.). ตัวชี้วัดและแดชบอร์ด. ค้นจาก
http://www.sdgport-th.org/indicators-dashboard/#1628146200415-ffd228d4-62d7
[5] เสน่ห์ ญาณสาร. (2542). ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ. เชียงใหม่: ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
[6] สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย. (2564). รายงานค่าโดยสารไตรมาส-4_2564.
ค้นจาก http://https://www.caat.or.th/wp-content/uploads/2022/03รายงานค่าโดยสารไตรมาส-4_2564.pdf
[7] อุโมงค์ปิยะมิตร. (2565). ค้นจาก https://th.wikipedia.org/wiki/อุโมงค์ปิยะมิตร
[8] Deep South Watch. (2564-2565). สรุปเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำเดือน.
ค้นจาก http://https://deepsouthwatch.org/index.php/th/node/12814
[9] GEOGRAPHY MYP/GCSE/DP. (ม.ป.ป.). Factors affecting the growth of tourism hotspots
ค้นจาก http://https://www.jkgeography.com/factors-affecting-growth-of-tourism-hotspots.html
[10] Peeranut P. (2565, 17 มีนาคม). ดับฝันชาวเบตง สนามบินเบตง ยกเลิกเที่ยวบินไม่มีกำหนด. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. sanook. ค้นจาก
https://www.sanook.com/travel/1431781/
[11] ภาพท่าอากาศยานเบตง ค้นจาก https://minisite.airports.go.th/betong/home