CMUGS EP.12 : Southeast Asia Essay Series :  มหานครจมบาดาล? กรณีศึกษามหานครในคาบสมุทรอินโดจีน

ศิริพัฒน์ รั่วลี

นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 2
ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

…………………………………………….

ในปัจจุบันนี้ทั่วโลกต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล รวมไปถึงการทรุดตัวของแผ่นดิน สิ่งต่างๆ เหล่านี้สอดคล้องกับการที่มหานครชายฝั่งทะเลเผชิญกับภาวะแผ่นดินทรุดตัวและการเกิดน้ำท่วมอย่างหนัก เป็นเพราะมหานครใหญ่หลายแห่ง เช่น กรุงเทพมหานคร ย่างกุ้ง โฮจิมินห์ และอีกหลายเมืองทั่วทั้งโลก ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล จนทำให้ในอนาคตมหานครเหล่านี้อาจต้องเผชิญกับภาวะ “มหานครจมบาดาล”

ความเป็นมหานครกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

มหานครใหญ่ในคาบสมุทรอินโดจีนเป็นศูนย์กลางที่แสดงถึงการพัฒนา ความเจริญมั่งคั่ง และการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ แต่เมืองเหล่านี้ยังขาดการบริหารจัดการของเมืองที่ยังไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น น้ำท่วม เป็นต้น เมื่อภูมิอากาศแปรปรวนและเมืองนั้นเป็นแหล่งการพัฒนาที่สำคัญและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ รองรับผู้คนเข้ามาอาศัย ทำให้เมืองนั้นมีความแออัด เมืองในคาบสมุทรอินโดจีนมักมีตำแหน่งที่ตั้งที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ที่ตั้งของเมืองอยู่พื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ และบริเวณติดชายฝั่งทะเล ภูมิประเทศดังกล่าวทำให้เมืองเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ ขณะที่เมืองนั้นมีการขยายตัวอยู่ตลอดเวลา ขาดการบริหารจัดการที่เป็นระบบ การก่อสร้างในพื้นที่เสี่ยงภัย การสร้างสิ่งก่อสร้างที่ขัดขวางทางน้ำ ส่งผลให้เกิดความรุนแรงทางภัยธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น [1] กระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานและที่อยู่อาศัยในเมือง

ภัยพิบัติทางธรรมชาติมีรูปแบบที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น อันเป็นเพราะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและแปรปรวน อีกทั้งยังมีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้มีกลุ่มเปราะบางที่เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจน เมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้นกลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับความเสี่ยงที่สูง เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน สาธารณูปโภค และปัญหาด้านสุขอนามัย [1]

จะเกิดอะไรขึ้นกับเมืองใหญ่ในปี 2050 ?

โลกของเราจะเกิดน้ำท่วมเนื่องจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้โลกมีอากาศที่ร้อนเพิ่มมากจนน้ำแข็งในขั้วโลกละลาย ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นสร้างปัญหาให้กับเมืองที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเลทำให้เกิดน้ำท่วมถาวร ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย จากการคาดการณ์ในอนาคตเมืองใหญ่หลายเมืองในพื้นที่คาบสมุทรอินโดจีนที่อยู่ติดชายฝั่งพบว่า เมืองเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะจมน้ำ จากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ เมืองย่างกุ้ง ในประเทศเมียนมาร์ เมืองโฮจิมินห์ซิตี ในประเทศเวียดนาม กรุงเทพมหานคร ในประเทศไทย และอีกหลายเมืองทั่วโลก เมืองดังกล่าวล้วนเป็นเมืองใหญ่ และมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ [3] จากแผนที่ความเสี่ยงเมืองชายฝั่งของ Climate Central [2] มีการคาดการณ์ว่ากรุงเทพมหานครในปี ค.ศ.2050 จะถูกน้ำทะเลท่วมถาวรสูงถึงประมาณ 50 เซนติเมตร (ภาพที่ 1) เพราะว่ากรุงเทพฯ นั้นมีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มและเป็นแอ่งกระทะ บางพื้นที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เมื่อน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นมีโอกาสที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯอย่างแน่นอน รวมถึงการขุดน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ทำให้เกิดการทรุดตัวของพื้นดิน กระทบต่อประชากรหลายล้านคน [3] ส่วนทางตอนใต้ของเวียดนามทั้งหมดจะถูกน้ำท่วมรวมถึงเมืองใหญ่ที่สำคัญคือ นครโฮจิมินห์ จะถูกน้ำท่วมทั้งหมด (ภาพที่ 2) ทำให้ประชากรกว่า 20 ล้านคน ได้รับผลกระทบและเกิดปัญหาการขาดแคลนทางด้านที่อยู่อาศัย และเนื่องจากเป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญของเวียดนามการพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆก็จะหยุดชะงัก ปัญหาน้ำท่วมในโฮจิมินห์เกิดขึ้นและยากที่จะแก้ไขคือการที่มีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งเมืองทำให้น้ำยากต่อการระบาย [3] ในขณะที่เมืองย่างกุ้งก็มีลักษณะที่คล้ายกันกับเมืองทั้งสองข้างต้น กล่าวคือตำแหน่งที่ตั้งของเมืองตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำและมีพื้นที่ต่ำ ทำให้เมื่อน้ำทะเลสูงขึ้นพร้อมกับน้ำทางทิศเหนือไหลลงมาก็จะทำให้เมืองนั้นเกิดน้ำท่วม

ภาพที่ 1 พื้นที่ของกรุงเทพมหานครที่จะถูกน้ำท่วมจากการคาดการณ์ในปี ค.ศ.2050 (ที่มา : [2])
ภาพที่ 2 พื้นที่เมืองโฮจิมินห์ซิตีที่จะถูกน้ำท่วมจากการคาดการณ์ในปี ค.ศ.2050 (ที่มา : [2])
ภาพที่ 3 เมืองย่างกุ้งจากการคาดการณ์ในปี ค.ศ.2050 ของเมืองจะถูกน้ำท่วม (ที่มา : [2])

.

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อมหานครในคาบสมุทรอินโดจีน

การพัฒนาของเมืองที่รวดเร็วและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงย่อมมีผลกระทบต่อเมือง เมืองสำคัญอย่างเมืองย่างกุ้ง โฮจิมินห์ และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เห็นถึงปัญหาภัยพิบัติอย่างชัดเจน โดยปัญหาที่พบมีดังนี้

  1. น้ำท่วม เนื่องจากเมืองมีการพัฒนาและมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมาย ทำให้เกิดสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ รวมถึงภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงยิ่งก่อให้เกิดฝนตกปริมาณมากในระยะเวลาอันสั้น แต่การระบายน้ำกลับไม่ได้ประสิทธิภาพ จึงทำให้เกิดน้ำท่วมในระดับที่สูงขึ้น ระบบการระบายน้ำของเมืองยังไม่มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะระบายน้ำได้ เนื่องจากขาดการวางแผนการจัดการที่ดี [1]
  2. ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการรุกล้ำของน้ำเค็ม ซึ่งแน่นอนว่าปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับเมืองที่อยู่ติดทะเลเป็นส่วนใหญ่ จะต้องเกิดการรุกล้ำของน้ำเค็มและการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องมาจากน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้เมืองนั้นต้องถูกกัดเซาะจนเสียพื้นที่ชายฝั่ง การเกิดน้ำกร่อย กระทบต่อน้ำประปาที่มีน้ำทะเลผสมเข้าไป เป็นผลเสียต่อการอุปโภคและบริโภคของประชาชน [1]
ภาพที่ 4 สภาพเมืองโฮจิมินห์ที่ถูกน้ำท่วม (ที่มา : [4])

การรับมือและการจัดการของมหานครต่อการเกิดภาวะปัญหาน้ำท่วม

สิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักมากขึ้นในยุคปัจจุบัน คือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นผลทำให้เกิดโลกร้อนทำให้น้ำทะเลนั้นสูงขึ้น สิ่งนี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด แต่ในเมื่อปัญหานี้เกิดขึ้นและยากที่จะทำให้น้ำทะเลลดลง ทุกเมืองจะต้องจัดการวางแผนเพื่อรับมือกับน้ำที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การสร้างระบบการบริหารจัดการการระบายน้ำ การสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะขนาดใหญ่ เป็นต้น แต่ละเมืองก็มีการจัดการที่แตกต่างกันไป ในส่วนของกรุงเทพมหานคร พยายามที่จะจัดการปรับปรุงระบบการระบายน้ำและการทำคันกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา และมีการขุดลอกคลอง หรือการส่งเสริมให้ปลูกและฟื้นฟูป่าชายเลนเพื่อลดผลกระทบของน้ำทะเลที่กัดเซาะชายฝั่ง [5] ในส่วนของโฮจิมินห์ซิตีมีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันน้ำท่วม เพื่อปรับปรุงการระบายน้ำ และมีการขุดลอกคลองให้น้ำไหลได้สะดวก เป็นต้น ทั้งนี้ การรับมือกับน้ำท่วมของเมืองเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญและทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง [4] ส่วนอนาคตภายในปี 2040 ย่างกุ้งควรนำยุทธศาสตร์เสริมสร้างการรู้รับปรับตัวต่อน้ำท่วมแบบบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมชายฝั่ง ระบบสูบน้ำและระบายน้ำ การเตือนภัยล่วงหน้า การวางแผนการใช้ที่ดินให้เหมาะสม รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วย [6]

บทสรุป

น้ำทะเลมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เมืองที่อยู่บริเวณชายฝั่งเกิดปัญหาน้ำท่วม เมืองส่วนใหญ่ในคาบสมุทรอินโดจีนมีภูมิประเทศที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม คือ ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำและมีพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล แม้ว่าเมืองนั้นติดชายฝั่งทะเล แต่กลับมีการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างตึกสูงและการจัดระเบียบพื้นที่เมืองที่ซับซ้อนและไม่เป็นระบบจนทำให้ความสามารถในการระบายน้ำลดลง กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในเมือง ทำให้แต่ละเมืองพยายามปรับปรุงจัดการระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบระบายน้ำ และการวางแผนเชิงพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพเพื่อเตรียมรับมือกับน้ำที่จะสูงขึ้นในอนาคต ท้ายที่สุด ภาครัฐและทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันเพื่อจะแก้ไขปัญหานี้ ประชาชนทุกคนควรมีบทบาทที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อนำไปสู่สภาพภูมิอากาศที่ดีขึ้น

บรรณานุกรม

[1] วราภรณ์ บุรีรักษ์, อำมาตย์ ไชยทวีวงศ์, กรองจิต กิติกาศ, อนุสรา โพธิ์ศรี, วรรโณบล ควรอาจ และกิรณา คำสิงห์นอก. (2559). เมืองรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: เมืองหาดใหญ่. นนทบุรี: มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย.

[2] Climate Central. (2021). Coastal Risk Screening Tool: Land Below 1.0 Meters of Water. (Online) Retrieved from https://coastal.climatecentral.org/map/8/100.6371/13.5082/?theme=water_level&map_type=water_level_above_mhhw&basemap=roadmap&contiguous=true&elevation_model=best_available&refresh=true&water_level=1.0&water_unit=m

[3] Lu, D. & Flavelle, C. (2019). Rising Seas Will Erase More Cities by 2050, New Research Shows. (Online) Retrieved from https://www.nytimes.com/interactive/2019/10/29/climate/coastal-cities-underwater.html

[4] ธนาคารกรุงเทพ. (2559). เผยแผนแก้วิกฤติ โฮจิมินห์ซิตี้ป้องกันน้ำท่วม. (ออนไลน์) ค้นจาก https://events.bangkokbanksme.com/en/14011

[5] องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน). (2562). กทม. รับมือโลกร้อน น้ำทะเลสูง หวั่นน้ำท่วม. (ออนไลน์) ค้นจาก http://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/post/กทม-รับมือโลกร้อน-น้ำทะเลสูง-หวั่นน้ำท่วม-860

[6] Deltares. (2021). Integrated Flood Resilience Strategy for Yangon City 2021-2040. (Online) chrome-extension://efaidnbmnnnibpcajpcglclefindmkaj/viewer.html?pdfurl=https%3A%2F%2Fwww.deltares.nl%2Fapp%2Fuploads%2F2021%2F07%2F20210301-Final-IFRS-Yangon-City-Synthesis-Report.pdf&chunk=true

แชร์ข้อความ:

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save