สรุปงานเสวนา Virtual Geography Speaker Series ครั้งที่ 7 บรรยายโดย Dr. Marion Borderon

หัวข้อ “ความท้าทายด้านแนวคิดและวิธีวิทยาในการทำความเข้าใจรูปแบบการ (ไม่) เคลื่อนย้ายท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ: ข้อมูลเชิงลึกจากเอธิโอเปียและอินเดีย”

บรรยายโดย Dr.Marion Borderon

Senior Scientist, Department of Geography & Regional Research
Faculty of Earth Sciences, Geography & Astronomy,
University of Vienna

สรุปและเรียบเรียงโดย ลิวา ผาดไธสง ชยา วรรธนะภูติ และเผ่าไทย สินอำพล – ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

23 พฤษภาคม 2565

…………………………………………………………………………………………………….………………

  1. หัวข้อการสัมมนาครั้งนี้ คือ “ความท้าทายด้านแนวคิดและวิธีวิทยาในการทำความเข้าใจรูปแบบการ (ไม่) เคลื่อนย้ายท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ: ข้อมูลเชิงลึกจากเอธิโอเปียและอินเดีย” กล่าวถึง 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ 1) องค์ความรู้ที่มีอยู่ แนวคิดที่ใช้และความท้าทายทางวิธีวิทยา 2) การใช้ข้อมูลระดับท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความท้าทายดังกล่าว และ 3) กรณีศึกษาเชิงลึกที่ชุมชนใน Kersa, East Hararghe ประเทศ Ethiopia และ Malda, West Bengal ประเทศ India
  1. การวิจัยนี้เป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศ กับการย้ายถิ่น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการปรับตัวต่อสถานการณ์ ในโลกปัจจุบันที่ไม่มั่นคงหรือไม่แน่นอน คาดการณ์ว่าประมาณปี 2070 การย้ายถิ่นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาบริเวณเขตร้อน ในความสัมพันธ์ดังกล่าว ความเห็นของนักวิชาการแบ่งเป็นสองฝั่ง ได้แก่
    • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการย้ายถิ่นของประชากร ด้วยปัจจัยเช่น ภัยพิบัติธรรมชาติ ความไม่มั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจ รวมไปถึงวิกฤตผู้ลี้ภัย
    • ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่จะบอกว่าการย้ายถิ่นเป็นผลโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แน่นอนว่าการย้ายถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต แต่การตัดสินใจย้ายถิ่นหรือไม่ย้ายถิ่นมีความซับซ้อนมากกว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยผลักดันเพียงปัจจัยเดียว บางคนอาจจะย้ายถิ่นไม่ได้เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรเงินทุน หรือโครงข่ายทางสังคม คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเปราะบางแต่ข้อมูลในส่วนนี้มีน้อยมาก หรือบางกลุ่มอาจจงใจที่จะไม่ย้ายถิ่นก็ได้
  1. ข้อมูลด้านการย้ายถิ่นในประเทศกำลังพัฒนายังมีอยู่อย่างจำกัด ไม่มีข้อมูลเชิงปริมาณระยะยาวที่จะพอบ่งบอกปัจจัยหรือรูปแบบการย้ายถิ่น อีกทั้ง ในเชิงทฤษฎีการย้ายถิ่น สาเหตุและผลกระทบจากการไม่เคลื่อนย้ายเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม นักวิจัยยังขาดความเข้าใจในภาพกว้าง ถึงปัจจัยที่เป็นตัวผลักดันและเป็นอุปสรรคต่อวิธีการและรูปแบบการย้ายถิ่นของคนในประเทศด้อยและกำลังพัฒนา
  1. ในเมื่อ 1) ทฤษฎีดังที่กล่าวไปข้างต้นยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ และ 2) พื้นที่วิจัยขาดข้อมูล Dr. Borderon ผู้มีพื้นภูมิศาสตร์มนุษย์เชิงปริมาณ ควรจะเริ่มงานวิจัยอย่างไร จะต้องจัดการกับวิธีวิทยาอย่างไร มี 3 แนวทางด้วยกันดังนี้
    • การให้เหตุผลแบบนิรนัย (deductive reasoning) คือ การเริ่มต้นจากทฤษฎีหรือแนวคิดก่อน หาข้อมูลหรือกรณีศึกษาที่สามารถพิสูจน์หรือล้มล้างทฤษฎีดังกล่าวได้ เป็นการหาทางจากบนลงล่าง เปรียบได้กับนักปรัชญา ที่คิดทุกอย่างอยู่ในหัวก่อนนำมาประยุกต์ใช้อธิบายเหตุการจริงในโลกภายนอก
    • การให้เหตุผลแบบอุปนัย (inductive reasoning) ก็คือการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์ให้ครบ จนสามารถมาสรุปหารูปแบบ และนำไปสร้างและพิสูจน์ทฤษฎี เป็นการหาทางจากล่างขึ้นบน เปรียบได้กับแพทย์ ที่เก็บข้อมูลทุกอย่างจากคนไข้และนำมาวิเคราะห์
    • เมื่อทฤษฎีไม่ชัด และไม่มีทางที่จะเก็บข้อมูลได้ครบถ้วนจากทุกเมือง วิธีที่ Dr. Borderon ใช้คือ การให้เหตุผลแบบจารนัย (abductive reasoning) เปรียบก็คือ นักสืบ (นึกถึงโคนัน หรือ เชอร์ล๊อค โฮล์มส์) ที่ในเมื่อยังไม่ค่อยมีหลักฐานหรือข้อมูลให้สืบค้น หรือยังไม่มีข้อสรุปที่ชี้ชัดแต่แรก ก็ต้องค่อยๆ ค้นหาหลักฐานเชิงประจักษ์ไปเรื่อยๆ เดาทางไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีข้อมูลดีพอมาสรุปหรือหักล้างสมมุติฐาน  ทำแบบนี้ตลอดช่วงการทำวิจัย
  1. ในกรณีศึกษาของเอธิโอเปีย ซึ่งประสบภัยแล้งเรื้อรังและรุนแรง คณะวิจัยต้องการศึกษาว่า ปัจจัยอะไรทำให้คน(ไม่)ย้ายถิ่นในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยแล้ง คนเหล่านั้นคือใคร และพวกเขาได้รับผลกระทบอะไรบ้าง คณะวิจัยใช้ข้อมูลสถิติแบบทุติยภูมิบางส่วนเป็นพื้นฐาน และหาคำตอบเพิ่มเติมจาก Health and Demographic Surveillance Systems (HDSS) ซึ่งรวบรวมข้อมูลด้านการเกิด การตายและการย้ายถิ่น ของประชากรในประเทศกำลังพัฒนา ขั้นต่อไปคือการใช้ Multiple Factor Analysis (MFA) และ Cluster analysis (CA) กับชุดข้อมูลดังกล่าวเพื่อ วิเคราะห์ปัจจัยด้านสภาพบ้านพักอาศัย 17 ปัจจัย ด้านความพึงพอใจต่อคุณภาพชีวิต 3 ปัจจัย และด้านการรู้หนังสือ 2 ปัจจัย
  1. ผลการศึกษาพบว่า ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อการย้ายถิ่นของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
    โดยในกรณีภัยแล้งรุนแรงในปี 2015 ผู้หญิงย้ายออกยากขึ้นด้วยข้อจำกัดด้านความรู้และทักษะแรงงาน ซึ่งแตกต่างจากผู้ชายที่มีระดับการอ่านออกเขียนได้สูงกว่า ในงานวิจัยเรียกกลุ่มผู้คนที่มีความปรารถนาที่จะย้ายถิ่น แต่ไม่มีความสามารถและทุนที่จะทำให้ย้ายออกไปได้ว่า กลุ่มที่ไม่ย้ายถิ่นโดยไม่สมัครใจ (involuntary immobile group)
  1. นอกจากนี้ กลุ่มคนที่ไม่ย้ายถิ่นโดยไม่สมัครใจจะได้รับความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ เพราะพวกเขาไม่มีทางเลือกที่จะดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ กลุ่มผู้หญิงที่เคลื่อนย้ายไม่ได้จะพยายามปลูกพืชบางชนิดเพื่อสร้างรายได้ แต่ก็ยังเป็นการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจอยู่ดี  ต่างจากกลุ่มที่ไม่ย้ายถิ่นโดยสมัครใจ ซึ่งคนกลุ่มนี้เข้าถึงการชลประทานจนทำให้มีความพึงพอใจต่อเงื่อนไขการดำรงชีวิตมากพอ
  1. ผลการศึกษาชิ้นนี้จึงแย้งกับทฤษฎีที่ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการย้ายถิ่นของประชากร ในทางตรงข้าม ยังช่วยให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาสังคมที่มีผลโดยอ้อมต่อคุณภาพชีวิต และการย้ายถิ่น สอดคล้องกับที่ Professor Paul Robbins ใน Virtual Geography Speker Series#2  ได้เคยเสนอไว้ ว่าการมีนโยบายแบบกระจายศูนย์ เพื่อจัดสรรทรัพยากรสู่ท้องถิ่น จะเป็นการช่วงยับยั้งไม่ให้เกิดการสูญเสียประชากรและแรงงานไปยังเมืองอื่น
  1. ในขณะที่งานวิจัยในประเทศเอธิโอเปียนั้น คณะวิจัยมีชุดข้อมูลประชากรจาก HDSS แต่ในกรณีศึกษาของที่ภูมิภาคเบงกอลตะวันตกของอินเดีย นั้น เป็นพื้นที่ที่ไม่มีข้อมูลเชิงสถิติหรือเชิงสารสนเทศมาก่อนเลย คณะวิจัยจึงจำเป็นต้องรวบรวมและพัฒนาข้อมูลของผู้พลัดถิ่นจากการกัดเซาะตลิ่งของแม่น้ำ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร คณะวิจัยได้มีการใช้ GPS รวบรวมข้อมูลจาก 4,095 ครัวเรือนที่ขาดหายไปในมิติต่างๆ ได้แก่ รูปแบบครัวเรือน สัดส่วนประชากรในครัวเรือน ขนาดครัวเรือน อาชีพของหัวหน้าครัวเรือน เด็กในครัวเรือน และข้อมูลการพลัดถิ่น เพื่อนำไปจำแนกระลอกของการพลัดถิ่นออกเป็น 3 ช่วงเวลาที่แตกต่างกัน สิ่งที่ค้นพบจากผู้พลัดถิ่นในกรณีนี้คือ แม้ว่าแม่น้ำจะให้ประโยชน์ในด้านการตั้งถิ่นฐานและการประกอบอาชีพจนทำให้เกิดรายได้แก่ครัวเรือน แต่ประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
  1. สิ่งที่ Dr. Boderon และทางคณะวิจัยได้ลงมือทำมาทั้งหมด ก็เพื่อที่จะเน้นย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามแก่ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ ทั้งสองกรณีศึกษา มีส่วนในการเข้าใจว่าวิถีชีวิตของแต่ละคนจะอยู่รอดอย่างดีขึ้นได้อย่างไรนับจากนี้ และช่วยทำให้เสียงของกลุ่มคนชายขอบในประเทศด้อยพัฒนาเหล่านี้ – ไม่ว่าจะเป็น ผู้หญิง เด็ก คนยากจน – ที่กำลังได้รับความเสี่ยงนี้ มีตัวตน มีความหมายขึ้นมา ให้พวกเขาถูกนับอยู่ในแผนการพัฒนาชุมชนของพวกเขา เพื่อเป็นการปกป้องและเสริมสร้างความสามารถในการอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต ดังนั้น งานวิจัยจึงพยายามตีแผ่ความยากลำบากและรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ให้สาธารณะรับทราบและนำไปแสวงหานโยบายแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาวิกฤตด้านมนุษยธรรมและเพิ่มความสามารถในการปรับตัวให้แก่กลุ่มที่ไม่ย้ายถิ่นโดยไม่สมัครใจต่อไป
  1. ในแง่ของวิธีวิทยา การทำวิจัยในพื้นที่ที่ยังไม่มีทฤษฎีรองรับเป็นเรื่องยาก  และหลงเชื่อตั้งแต่แรกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดการย้ายถิ่น ก็จะทำให้มองไม่เห็นบริบทท้องถิ่นที่เป็นอุปสรรคต่อการย้าย/พลัดถิ่น นอกจากนั้น การทำวิจัยในพื้นที่ที่ขาดข้อสถิติก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน สำหรับ Dr. Borderon ผู้ที่ถนัดงานวิจัยเชิงปริมาณมาก จึงแนะนำว่า เริ่มจากหาข้อมูลสถิติก่อน แล้วจึงค่อยๆ เล่นกับตัวเลข เล่นกับข้อมูลไปเรื่อยๆ เสมือนการด้นสดไปในตัว จากนั้น สามารถลงพื้นที่เก็บข้อมูลระดับครัวเรือนกับชุมชนเล็กๆ ในแบบชาติพันธุวรรณา เพื่อให้มีทั้งข้อมูลรูปแบบเชิงพื้นที่ในภาพกว้าง และข้อมูลเชิงลึกระดับปัจเจก นี่เองก็คือ วิธีวิจัยแบบเชิงปริมาณผสมเชิงคุณภาพ หรือ Mixed method นั่นเอง ในทำนองเดียวกับของ Professor Paul Robbins ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
แชร์ข้อความ:

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save