สรุปประเด็นสัมมนา Virtual Geography Speaker Series #2 บรรยายโดย ศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์ Paul Robbins หัวข้อ “การสำรวจและอธิบายความหลากหลายทางชีวภาพ: การผนึกกำลังงานวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพในด้านสิ่งแวดล้อม”

ชยา วรรธนะภูติ1 และ อารียา ติวะสุระเดช2

1อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

2นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

………………………………………………………..

1. ศาสตราจารย์ Paul Robbins ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์ และคณบดีประจำ The Nelson Institute for Environmental Studies แห่งมหาวิทยาลัย University of Wisconsin-Madison สถาบันเนลสันฯ เน้นการทำวิจัยแบบสหวิทยาการ (interdisciplinary) เพื่อสร้างและส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม ประวัติการศึกษาของศาสตราจารย์ Robbins เรียนจบในระดับปริญญาตรีด้านมานุษยวิทยา ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกด้านภูมิศาสตร์ และได้แต่งหนังสือเกี่ยวกับนิเวศวิทยาการเมืองและการอนุรักษ์ทรัพยากรที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น Political Ecology: A Critical Introduction และ Lawn People: How Grasses, Weeds and Chemicals Make Us Who We Are ทางคณะทำงานมีความเห็นตรงกันว่าอยากเชิญให้ท่านมาถ่ายทอดประสบการณ์ทำงานวิจัยของท่านในฐานะนักภูมิศาสตร์มนุษย์ที่ทำงานกับนักชีววิทยาและนักภูมิศาสตร์กายภาพ ผ่านการใช้วิธีวิจัยแบบผสมผสาน (mixed method) ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ด้วยตำแหน่งหน้าที่ ความเชี่ยวชาญและงานวิจัยของศาสตราจารย์ Robbins ตอกย้ำให้เห็นความเป็นสหวิทยาการของงานวิจัยทางภูมิศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง (ดูเพิ่มเติมใน สรุปสัมมนาครั้งที่ 1)

.

2. ไอเดียหลักๆ สำหรับสัมมนาครั้งนี้คือ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในโลกยุคแอนโธรพอซีน การ “ด้นสด” ในสนามวิจัย และการออกแบบงานวิจัยเชิงสหวิทยาการ

.

3. สำหรับเนื้อหาสัมมนาครั้งนี้ ศาสตราจารย์ Paul Robbins เล่าประสบการณ์ทำวิจัยเรื่องการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพจากที่ประเทศอินเดีย (Robbins, Chhatre and Karanth, 2015) แกเชิญชวนให้พวกเรานั่งเฮลิคอปเตอร์ไปยังรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) บริเวณเทือกเขาฆาฏตะวันตก (Western Ghats) จากมุมสูงเราจะเห็นป่าทึบยอดสูง แต่เมื่อเท้าแตะพื้นและกวาดสายตาไปโดยรอบ จะเห็นสวนกาแฟ สวนหมากและสวนยางพาราปลูกบนที่ดินเอกชนกินพื้นที่กว่า 30,000 ตร.กม. นี่คือภูมิทัศน์ของยุคแอนโธรพอซีนอย่างแท้จริง ที่ที่คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติ แต่ไม่ใช่ในแง่ของความโรแมนติกเหมือนในอดีตเมื่อร้อยปีที่แล้ว แต่ด้วยเพราะกระบวนการทางเศรษฐกิจโลก บริษัททุนข้ามชาติและการล่าอาณานิคมได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้า หน้าที่และความหมายของมนุษย์และธรรมชาติไปอย่างสิ้นเชิง พร้อมกับทำให้ทั้งมนุษย์และธรรมชาติซึ่งหลายครั้งไม่เคยอยู่ร่วมกันหรือไม่เคยเกี่ยวข้องกันมาก่อน กลับต้องมีปฏิสัมพันธ์อย่างเข้มข้นและแยกขาดจากกันไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

.

4. เกษตรกรรายย่อยปลูกกาแฟ (ซึ่งไม่ใช่พืชท้องถิ่น) ไว้ใต้ร่มต้นไม้ขนาดใหญ่อายุหลายสิบปี แต่ละครอบครัวอาจมีพื้นที่เพาะปลูกขนาดราว 60 ไร่ การผสมผสานของพืชพรรณจึงดึงดูดให้นกและสัตว์เลื้อยคลานหลากชนิดเข้ามาอยู่อาศัย จากการสำรวจด้วยวิธีทางชีวภูมิศาสตร์ นักวิจัยกว่า 30 ชีวิตตระเวนนับจำนวนนกทุกเช้า-เย็นของแต่ละวัน พบนกราว 137 สายพันธุ์ รวมถึงนกหายากเช่น นกเงือก อาศัยอยู่บริเวณสวนกาแฟ และอีกราว 100 สายพันธุ์อาศัยอยู่ที่สวนหมากและยางพารา นกถือเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศบนพื้นที่ป่า-ไร่เพาะปลูกแห่งนี้ จะเห็นได้ว่า ความหลากหลายทางชีวภาพที่แสนพิเศษบนภูมิทัศน์แอนโธรพอซีนของรัฐกรณาฏกะ ไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ หากแต่เป็นผลลัพธ์ร่วมของระบบทุน ตลาดโลกและการตัดสินใจของเกษตรกร ที่กระทำลงบนระบบนิเวศแห่งนี้

.

5. ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณและนกขึ้นอยู่กับการดูแลต้นไม้ในไร่ของเกษตรกรรายย่อย เช่น การตกแต่งชั้นเรือนยอด (canopy) ของต้นไม้สูง หรือโค่นต้นไม้บางต้นทิ้งเพื่อให้แสงส่องลงมาถึงต้นกาแฟด้านล่าง คำถามคือ ปัจจัยอะไรส่งผลต่อการตัดสินใจดังกล่าว ที่แน่ๆ การศึกษาทางชีวภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวทางการทำวิจัยแรกเริ่มของงานวิจัยชิ้นนี้ ไม่ใช่แนวทางการวิจัยที่เหมาะสมนักสำหรับการล้วงลึกไปถึงความคิดและการตัดสินใจของเกษตรกร เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ทีมวิจัยจึงจำเป็นต้องลงชุมชน คลุกคลีกับชาวบ้านและเกษตรกร เพื่อเข้าใจพฤติกรรม ภูมิหลังของแต่ละคน บริบททางสังคมและเศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่อการดูแลต้นไม้

.

6. จากการสอบถามชาวบ้านชาวสวนกว่าสามร้อยคน ไม่พบปัจจัยอะไรที่บ่งชี้เป็นพิเศษ แม้แต่ระดับการศึกษาและความรู้เรื่องการเกษตร (ซึ่งแตกต่างกันมากระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับนักวิชาการ หรือเจ้าของสวนใหญ่โต) ก็ไม่มีนัยความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับการดูแลแต่งกิ่งต้นไม้ แต่สิ่งที่หลายคนพูดถึงตรงกันคือ ปัจจัยเรื่องลูกจ้างหรือคนงานในไร่กาแฟที่มีค่าแรงแพงและหายากขึ้นทุกที แต่ความหลากหลายทางชีวภาพเกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตของคนงาน คำตอบคือ พื้นที่ที่มีต้นไม้และร่มเงามักจะดึงดูดสัตว์ป่าหลากชนิด ในขณะเดียวกัน กาแฟพันธุ์อาราบิก้าก็เติบโตได้ดีกว่าในสภาพที่มีร่มเงาด้วย หรือกล่าวสั้นๆคือ การปลูกกาแฟอาราบิก้าแซมกับต้นไม้ใหญ่เป็นการช่วยอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าไปด้วยในตัว

.

7. อย่างไรก็ดี การจะได้ร่มเงาที่พอเหมาะสำหรับการปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า จำเป็นต้องมีการจ้างคนงานเพื่อดูแลแต่งกิ่งให้ชั้นเรือนยอดไม่ทึบหรือโปร่งเกินไป จากการสอบถามเจ้าของสวนพบว่า คนงานเหล่านี้เรียกค่าจ้างแพง อีกทั้งยังมีอำนาจต่อรองสูงและมีทางเลือกในชีวิตที่มากมาย หากได้ค่าแรงต่ำเกินไป พวกเขาก็พร้อมไปทำงานอื่นในหมู่บ้านอื่น หรือย้ายไปทำงานในเมืองได้ นั่นหมายความว่า แม้ว่าการปลูกกาแฟอาราบิก้าจะส่งผลดีต่อความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่า แต่ด้วยเพราะคนงานหายาก และค่าจ้างแพง ประกอบกับราคากาแฟอาราบิก้าในตลาดที่ผันผวนมากกว่าเมื่อเทียบกับราคาของกาแฟโรบัสต้า ทำให้เกษตรกรรายย่อยไม่มีแรงจูงใจที่จะปลูกกาแฟอาราบิก้า ดังนั้น จึงเลือกวิธีที่คุ้มค่าที่สุด คือการปลูกกาแฟโรบัสต้า ซึ่งเติบโตได้ดีกว่าในพื้นที่ที่มีชั้นเรือนยอดโปร่ง เกษตรกรจึงยินดีที่จะโค่นกิ่งเรือนยอดทิ้งเพื่อลดความจำเป็นต้องแต่งกิ่งและลดต้นทุนด้านแรงงาน กลายเป็นว่า ปัจจัยด้านแรงงานกลับมีผลโดยอ้อมต่อความหลากหลายทางชีวภาพไปโดยปริยาย

.

8. ในภาพกว้าง ปัจจุบันเขตรัฐกรณาฏกะกำลังประสบกับปัญหาการกลายเป็นเมือง แรงงานย้ายจากชนบทเข้าสู่ในเมือง และอัตราการเกิดในชนบทที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้ในอนาคตการขาดแคลนแรงงานจะเป็นปัญหาสำคัญมาก ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นปัญหาด้านประชากรและเศรษฐกิจ แต่เกี่ยวโยงไปถึงเรื่องความสมบูรณ์ของระบบนิเวศอย่างชัดเจน หรืออาจกล่าวได้ว่า ในช่วงอดีตที่ผ่านมา ความหลากหลายทางชีวภาพมีมากได้ส่วนหนึ่งก็เพราะมีแรงงานราคาถูกนั่นเอง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในยุคแอนโธรพอซีน อาจไม่ใช่แค่การปิดล้อมป่า หรือขับไล่คนออกจากป่าเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า ดังที่รัฐบาลอินเดียกำลังทำอยู่ แต่เป็นการบริหารจัดการให้คนที่จำเป็นต้องใช้ป่าได้มีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อมในการรักษาระบบนิเวศ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่ม NGO มีส่วนช่วยตรงนี้อย่างมีนัยสำคัญ คำถามคือ จะมีนโยบายหรือแรงจูงใจอะไรเล่าที่สนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยปลูกกาแฟแล้วยังคงสร้างความหลากหลายทางชีวภาพได้ด้วย จะสร้างแรงจูงใจและสวัสดิการอะไรเพื่อจะดึงดูดให้แรงงานไม่เดินทางไปทำงานในเมืองเสียหมด

.

9. การทำวิจัยชิ้นนี้ของทีมงานศาสตราจารย์ Robbins เริ่มต้นจากการศึกษาทางชีวภูมิศาสตร์ควบคู่กับทีมงานนักอนุรักษ์ จบลงด้วยการลงชุมชนหลายต่อหลายรอบจนได้คำตอบเรื่องคนงาน นี่คือการบูรณาการความรู้ทางภูมิศาสตร์กายภาพ ภูมิศาสตร์มนุษย์ และภูมิศาสตร์เทคนิค ร่วมกับนักวิจัยจากสาขาวิชาอื่นอย่างแท้จริง ศาสตราจารย์ Robbins ยอมรับว่าความสมบูรณ์แบบทั้งหมดนี้ ไม่ใช่แผนการทำงานที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก งานวิจัยถูกออกแบบเพื่อทำการสำรวจนก แบบสอบถามชาวบ้านก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อถามเรื่องแรงงานตั้งแต่แรก งานวิจัยชิ้นนี้ อาจได้ข้อสรุปอีกแบบหนึ่งหากนักวิจัยพอใจแล้วกับข้อค้นพบเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพของนก แต่การได้ลงมือทำงานอยู่ในพื้นที่ ประกอบกับความสงสัย การใส่ใจในรายละเอียดของวิถีชีวิตผู้คน ก็ได้นำพาไปสู่การตั้งคำถามวิจัยใหม่และข้อค้นพบใหม่เรื่องแรงงานย้ายถิ่นเข้าสู่เมืองใหญ่และอัตราการเจริญพันธุ์ในชนบท ที่ไม่มีใครคาดคิดไว้ตั้งแต่แรก นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำไมนักภูมิศาสตร์กายภาพ นักภูมิศาสตร์มนุษย์และนักภูมิศาสตร์เทคนิค รวมถึงนักภูมิศาสตร์กับนักวิชาการจากสาขาอื่นๆ จำเป็นต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แน่น ข้อมูลที่ได้มาอย่างรวดเร็วและแม่นยำจากเครื่องมืออุปกรณ์ชั่ง ตวง วัดที่ทันสมัย ข้อมูลภาพกว้างและละเอียดจากภาพถ่ายทางอากาศและภาพดาวเทียม รวมถึงข้อมูลที่ชวนสับสน ยืดยาดและบางครั้งไร้เหตุผล อันได้จากการนั่งฟังผู้คนเล่าเรื่องราวชีวิตของพวกเขา ข้อดีของการมีชุดข้อมูลที่แตกต่างกันคือ จะสามารถใช้เพื่อยืนยัน ถกเถียงหรือต่อยอดกันและกันได้ นี่เองก็อาจปัญหาที่นักวิจัยสหวิทยาการหลายคนอยากได้

.

10. ศาสตราจารย์ Robbins กล่าวว่า แกไม่มีทางได้เป็นคณบดีของ The Nelson Institute for Environmental Studies หากไม่ได้รับการฝึกฝนให้เป็นนักภูมิศาสตร์ เพราะภูมิศาสตร์สอนให้เข้าใจในความหลากหลายของวิธีคิด ญาณวิทยา คำศัพท์และวิธีวิจัย จุดเด่นของภูมิศาสตร์ที่ทำให้ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ และที่ทำให้แกมาอยู่ตรงนี้ได้คือ ความยืดหยุ่น ความเลื่อนไหลในศาสตร์และศิลป์ งานวิจัยชิ้นนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากนักวิจัยแต่ละคนมุ่งแต่จะเอาแนวคิดทฤษฎีเป็นตัวนำการทำวิจัย (บ้างมองจากมุมมองด้านชีววิทยา บ้างจากนิเวศวิทยาการเมือง บ้างจากด้านนโยบายสาธารณะ) จงลดกำแพงทางความรู้ลง และมุ่งเป้าไปที่การใช้ปัญหาตรงหน้าเป็นตัวตั้งคำถาม เมื่อคำตอบของการอนุรักษ์นกคือเรื่องการตัดสินใจของคน ทีมงานก็จำเป็นจะต้องพักจากเรื่องนกมาศึกษาเรื่องคนให้ได้ นี่คือการ “ด้นสด” การปรับตัวในสนามวิจัย และทำงานเชิงรุกในการปรับเปลี่ยนคำถามวิจัยให้เหมาะกับข้อค้นพบที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ศาสตราจารย์ Robbins ทิ้งท้ายไว้ว่า การออกแบบงานวิจัยที่ดี คือการออกแบบกรอบการทำงานที่ยืดหยุ่น (“to allow us to learn as we go”) ในขณะเดียวกัน ทีมวิจัยก็ต้องพร้อมจะเปิดรับต่อความเป็นไปได้อันหลากหลาย และพร้อมเรียนรู้และปรับตัวด้วย (“to be surprised”) บางทีเราอาจจะเรียนรู้ได้มากที่สุดจากสิ่งที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้

.

11. ชวนคิด: 1) งานวิจัยทางภูมิศาสตร์ในประเทศไทยชิ้นใดบ้าง ที่มีลักษณะบูรณาการภายในสายความเชี่ยวชาญภูมิศาสตร์และเป็นสหวิทยาการ คล้ายคลึงกับในงานของศาสตราจารย์ Robbins 2) ใครจะต้องทำอะไร เพื่อสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยดังในข้อ 1 เพิ่มมากขึ้น

.

แชร์ข้อความ:

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save