สรุปงานเสวนา Virtual Geography Speaker Series ครั้งที่ 5 บรรยายโดย Professor Patrick Sakdapolrak

หัวข้อ: การรู้รับปรับตัวข้ามท้องถิ่น: การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม การย้ายถิ่น และการรู้รับปรับตัวเชิงสังคมในชนบทของไทย (Translocal Resilience: Environmental Change, Migration and Social Resilience in Rural Thailand)

บรรยายโดย: Professor Patrick Sakdapolrak, Department of Geography and Regional Research, University of Vienna

สรุปโดย: เผ่าไทย สินอำพล – ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

25 กุมภาพันธ์ 2565

…………………………………………………………………………………………………….………………

การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมกับการย้ายถิ่น (Environmental Change and Migration)

1.1 การย้ายถิ่นจากภัยพิบัติเกิดขึ้นเป็นประจำ สังเกตได้จากกรณีพายุเฮอริเคนแคทรินาในสหรัฐอเมริกา หรือในกรณีภัยแล้งสุดขั้วที่จะงอยแอฟริกา (Horn of Africa) ภัยพิบัติเหล่านี้ทำให้เกิดการพลัดที่พลัดถิ่นออกจากเดิมอย่างมหาศาล และในอนาคตปี 2100 จะมีประชากรมากกว่า 1 พันล้านคนต้องอพยพออกจากภูมิลำเนาของตนเองเนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

1.2 จึงเกิดกลุ่มที่เรียกว่า ผู้ลี้ภัยทางภูมิอากาศ (climate refugees) ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยวาทกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (the Global North) มีความตระหนักต่อปัญหาผู้ลี้ภัยทางภูมิอากาศในประเด็นความมั่นคงมากขึ้น เพราะเกรงว่าจะมีคนนับพันล้านที่จะย้ายเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้ว

1.3 เพราะฉะนั้น การที่เรารู้ว่าคนจะย้ายเพิ่มขึ้นอีกเท่าไรเป็นเรื่องที่สำคัญ จากการประมาณการในปี 2050 พบว่า จะมีผู้คนมากถึง 150-300 ล้านคนที่จะพลัดถิ่นด้วยเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวอาจเป็นเพียงการประมาณกึ่งคาดเดา (guesstimate) เพื่อนำตัวเลขนี้เป็นหลักฐานในการสร้างข้อตระหนักต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและความมั่นคง แต่กลับละเลยประเด็นด้านมนุษยธรรม ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างข้อสรุปที่ง่าย (simplistic) และเป็นความเข้าใจเชิงกำหนด (deterministic understanding) มากเกินไปว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมขับเคลื่อนให้เกิดการย้ายถิ่นเพียงอย่างเดียว

1.4 แท้จริงแล้ว การย้ายถิ่นเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน มีปัจจัยขับเคลื่อนหลากหลาย ทั้งในด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ประชากร และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การตัดสินใจว่าจะย้ายถิ่นหรืออยู่กับที่ นอกจากนี้ ปัจจัยส่วนบุคคล การตัดสินใจในระดับครัวเรือน และโอกาสแทรกซ้อนอื่นๆ ก็มีส่วนเช่นเดียวกัน ผลลัพธ์จากการตัดสินใจนี้ทำให้เห็นว่า ใครย้ายถิ่น ย้ายไปที่ไหน นานเท่าไร ในขณะที่คนที่ต้องจำอยู่ในพื้นที่เดิม (trapped population) หรือผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังนั้นมีเหตุผลอะไรที่ทำให้เขาย้ายออกไปไม่ได้/ไม่ได้ย้ายออกไป อย่างไรก็ดี งานวิจัยหลายชิ้นที่ผ่านมาก็ไม่ได้ตัดสินอย่างชัดเจนว่าการย้ายถิ่นหรือไม่ย้ายถิ่นเกิดจากเหตุด้านสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ย้ายถิ่นแล้วช่วยปรับตัวได้จริงหรือไม่ เป็นต้น

1.5 เพราะการย้ายถิ่นหรือไม่เคลื่อนย้ายไปไหน บ่งบอกได้ทั้งการปรับตัวที่ล้มเหลว (failed adaptation) หรือเป็นสัญญาณของการปรับตัวที่สำเร็จ (sign for successful adaptation) เพราะฉะนั้น Professor Patrick จึงกล่าวว่า การตัดสินใจย้ายถิ่นขึ้นอยู่กับระดับของเสรีภาพ (degree of freedom) และทางเลือกในการตัดสินใจ (choice of decision) ที่แต่ละบุคคลพึงมีมากกว่า

1.6 การย้ายถิ่นเพื่อการปรับตัวถูกมองได้หลายมุม บางครั้งก็ถือเป็นปรากฏการณ์ปกติ บางครั้งก็ถือเป็นยุทธวิธีในการดำรงชีพ (livelihood strategies) สำหรับกลุ่มที่มีวิถีชีวิตเปราะบาง บางครั้งก็ศึกษาไปถึงกลุ่มที่ไม่เคลื่อนย้าย กลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เดิม และกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องผลตอบรับ (feedback effects) ของการย้ายถิ่นยังคงถูกละเลยในงานวิจัยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในประเด็นการปรับตัวและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

2. การรู้รับปรับตัวเชิงสังคมในสภาวะข้ามถิ่น (Translocal Social Resilience)

2.1 งานวิจัยของ Professor Patrick (TransRE Project) จึงสร้างแนวคิด Translocal Social Resilience ขึ้นมาเพื่ออธิบายผลตอบรับของการย้ายถิ่นในฐานะที่เป็นกระบวนการสร้างการรู้รับปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิลำเนาของผู้ย้ายถิ่น ซึ่งต่างจากการศึกษาในอดีตที่เน้นถึงการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในฐานะที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการย้ายถิ่น สาเหตุที่ Professor Patrick เปลี่ยนแนวทางการศึกษาเนื่องจากเห็นว่าการย้ายถิ่นเป็นปรากฏการณ์ปกติที่เกิดขึ้น ต่อให้ไม่มีวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมก็ตาม

2.2 Translocal Social Resilience คือ ความสามารถที่ผู้ย้ายถิ่นจะสร้างและรักษาเครือข่ายความสัมพันธ์ข้ามถิ่นเพื่อต่อสู้กับผลกระทบที่เกิดขึ้นในด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไม่บั่นทอนความพยายามในการรักษาและส่งเสริมความกินดีอยู่ดี ทั้งในกลุ่มผู้ที่ย้ายถิ่นและไม่ย้ายถิ่น แนวคิดนี้ทำให้เห็นถึงการสร้างเครือข่ายเพื่อเป็นยุทธวิธีในการดำรงชีพ ปลดปล่อยตนเองออกจากท้องถิ่น และทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของเงิน ผู้คน ความคิด ฯลฯ จนนำไปสู่การสร้างเสริมการรู้รับปรับตัวของครัวเรือนในชนบทต่อไป

2.3งานวิจัยนี้จึงให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้ามระดับพื้นที่ (multi-scale analysis) ตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงระดับนานาชาติ และทำการวิเคราะห์การรู้รับปรับตัวในหลายมิติ ทั้งในด้านเครือข่ายผู้ย้ายถิ่น-ผู้ไม่ย้ายถิ่น ความเปราะบาง ปฏิบัติการทางสังคม และธรรมาภิบาลของการย้ายถิ่น

3. พื้นที่ศึกษาและระเบียบวิธีวิจัย

3.1 งานวิจัยนี้ทำการศึกษาชุมชนชนบทใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี และบุรีรัมย์ โดยสังเกตจุดหมายปลายทางของการย้ายถิ่นทั้งในและต่างประเทศ โดยในประเทศมุ่งเน้นไปที่พื้นที่เมืองและอุตสาหกรรมรอบกรุงเทพมหานคร ส่วนในต่างประเทศมุ่งเน้นไปที่ประเทศสิงคโปร์และเยอรมนี

3.2 ชุมชนที่ทำการศึกษามักจะมีภูมิหลังร่วมกันหลายประการ ได้แก่ เป็นชุมชนชาวนา เกิดน้ำท่วมหรือภัยแล้งซ้ำซาก มีเครือข่ายผู้ย้ายถิ่นที่กว้างขวาง และมีวิถีการดำรงชีพแบบชนบท

3.3 งานวิจัยนี้ใช้วิธีแบบผสม (mixed methods) จากการสำรวจครัวเรือน การทำแผนผังเครือข่ายผู้ย้ายถิ่น การประเมินอย่างมีส่วนร่วมแบบเร่งด่วน (PRA) การทำแผนผังผลกระทบ การทำเส้นเวลา (timeline) ฯลฯ ภายใต้ระเบียบวิธีวิจัยแบบชาติพันธุ์วรรณาหลายพื้นที่ (multi-sited ethnography) 

4. หลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัย

4.1 งานวิจัยเครือข่ายข้ามถิ่นในภาคอีสาน (translocal network in Northeastern Thailand) – การตัดสินใจด้วยเครือข่ายส่วนตัวเป็นศูนย์กลาง (egocentric network) จากสมาชิกในครัวเรือนและญาติ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ผู้ย้ายถิ่นตัดสินใจเดินทางออกไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในระดับชาติและนานาชาติ ส่วนคนในท้องถิ่นก็มีส่วนในการสร้างความยึดโยงต่อเครือข่ายการย้ายถิ่นเช่นกัน ผลจากการเคลื่อนย้ายพบว่า เงินส่งกลับบ้านจากต่างประเทศ (international remittances) กลายเป็นรายได้หลักของครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของรายได้ครัวเรือนทั้งหมด เงินส่วนนี้สามารถนำไปต่อยอดได้หลายอย่าง เช่น การศึกษา การประกอบอาชีพ การลงทุนสร้างบ้านและซื้อที่ดิน การซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ ใช้จ่ายประจำวัน เป็นต้น

4.2 งานวิจัยด้านพลวัตเชิงเวลา (temporal dynamics) – ทำให้ทราบว่าเราควรศึกษาการย้ายถิ่นให้เป็นกระบวนการ (migration as a process) ซึ่งทำให้เห็นถึงแรงจูงใจในการตัดสินใจย้ายถิ่น จนเกิดเป็นเส้นทางชีวิตในการย้ายถิ่นที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะกลับมาที่เดิมโดยถาวร กลับมาชั่วคราว หยุดเคลื่อนย้าย หรือเคลื่อนย้ายไปต่อ การศึกษาชิ้นนี้ยังระบุอีกว่า การย้ายถิ่นในระยะแรกมีประโยชน์ในการชดใช้หนี้สินและสนับสนุนความเป็นอยู่ของครัวเรือน เมื่อผ่านระยะแรกไปได้ก็จะเข้าสู่ระยะที่สอง คือ มีรายได้เพิ่มขึ้น บางคนอาจมีครอบครัวใหม่และต้องจัดสรรรายได้ในการเลี้ยงดูให้ลงตัว ส่วนระยะที่สาม จะเป็นการตัดสินใจว่าจะกลับมาเป็นชาวนาที่ภูมิลำเนาเดิม ให้รุ่นต่อไปย้ายถิ่นแทนตนเอง หรืออื่นๆ

4.3 การยึดโยง (embeddedness) – พบว่าผู้ย้ายถิ่นจะมีกระบวนการปรับตัวที่แตกต่างกันไปเมื่อได้ฝังตัวอยู่ในพื้นที่ปลายทางแล้ว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเครือข่ายการย้ายถิ่นที่มีทั้งในพื้นที่ต้นทางและปลายทาง ในกรณีของแรงงานไทยในสิงคโปร์พบว่า การย้ายถิ่นถูกกำกับโดยองค์กรต่างๆ จำนวนมาก เช่น ศูนย์พัฒนาฝีมือ นายหน้า กระทรวงกำลังแรงงานของสิงคโปร์ ฯลฯ ซึ่งมีผลต่อการกำหนดโควตาแรงงานและระยะเวลาที่จะอยู่อาศัยได้ แต่สิ่งที่สังเกตและรับรู้ได้มี 2 ประการ คือ 1) แรงงานข้ามชาติถูกแยกออกจากประชาชนสิงคโปร์อย่างชัดเจนในเรื่องของพื้นที่อยู่อาศัย แรงงานจะอยู่ในหอพักที่มีบริการครบถ้วน แยกออกจากพื้นที่ปกติที่ชาวสิงคโปร์ใช้บริการ อีกทั้งอยู่ในสภาพยกเว้นทางกฎหมายในบางเรื่อง เช่น มีการนั่งท้ายรถบรรทุกเล็กไปทำงาน ซึ่งผิดกฎหมายการจราจรแต่ยกเว้นให้สำหรับผู้ประกอบการที่ขนย้ายแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น และ 2) เกิดสภาวะชั่วคราวอย่างถาวร (permanent temporariness) คือ แรงงานไม่สามารถทำงานและอาศัยอยู่ในสิงคโปร์ในระยะยาวได้ เนื่องจากการกำหนดโควตาและระยะเวลาทำงาน

4.4 ความแตกต่างทางสังคม (social differentiation) ของการย้ายถิ่นที่มีปลายทางต่างกัน – กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าการย้ายถิ่นไม่ได้เป็นทางออกสำหรับการปรับตัวเสมอไป เพราะการกระจายผลประโยชน์ที่แต่ละคนได้จากการย้ายถิ่นไม่เท่ากัน Professor Patrick กล่าวถึงปัญหาดังกล่าวใน 2 ประเด็น คือ 1) การรู้รับปรับตัวที่ล่อแหลมหมิ่นเหม่ (precarious resilience) คือ ครัวเรือนได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นจากผู้ย้ายถิ่น แต่ความกินดีอยู่ดีของผู้ย้ายถิ่นกลับลดลง หรือ 2) เกิดกับดักของการรับมือ (coping trap) ซึ่งเป็นภาวะชะงักงัน (stagnation) หรือการเสื่อมถอยของความสามารถในการปรับตัวให้แก่ครัวเรือนที่อยู่ต้นทางของผู้ย้ายถิ่น ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นการผลิตซ้ำความเปราะบางและความไม่เท่าเทียมภายใต้สภาวะข้ามถิ่น

4.5 นุ่น (นามสมมติ) ถือเป็นกรณีศึกษาของการเกิด coping trap เพราะนุ่นย้ายถิ่นจากอีสานไปทำงานในกรุงเทพฯ กับลูก 2 คนโดยหย่าร้างกับสามี แต่ด้วยการศึกษาน้อย ทำให้นุ่นได้ทำเพียงงานรับช่วงต่อด้านสิ่งทอซึ่งมีการจ้างงานที่ไม่มั่นคง ประกอบกับปัญหาในครอบครัวที่พอกพูนจากภัยแล้งทางการเกษตร ทำให้นุ่นตัดสินใจกู้เงินนอกระบบเพื่อช่วยเหลือทางบ้าน และไม่สามารถนำเงินที่ได้จากการทำงานในกรุงเทพฯ ไปจุนเจือครอบครัวได้ เป็นที่ชัดเจนว่าการย้ายถิ่นจากชนบทเข้าสู่เมืองของนุ่นไม่สามารถสนับสนุนให้วิถีชีวิต-คุณภาพชีวิตของเธอและครอบครัวดีขึ้นได้ แต่จะย้ายกลับไปชนบทก็ไม่ได้อีกเช่นกัน

4.6 ต่างจากป้อม (นามสมมติ) ที่เคยไปทำงานเป็นโฟร์แมนที่สิงคโปร์ในปี 1995 เพราะครอบครัวยากจนและมีที่ดินน้อย ป้อมส่งเงินกลับบ้านกว่าเดือนละ 1,500 ยูโร นำเงินที่เก็บสะสมมาซื้อที่ดิน เมื่อครั้งที่ทำงานในสิงคโปร์ ป้อมเรียนรู้ที่จะคิดวางแผนเพื่อทำธุรกิจ เมื่อกลับมายังภูมิลำเนาในปี 2015 ป้อมลงทุนเลี้ยงหมู บาร์คาราโอเกะ และทำกิจการอื่นๆ จนทำให้ป้อมสามารถสร้างวิถีการดำรงชีพที่หลากหลาย และเพิ่มความสามารถในการรู้รับปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านภูมิอากาศได้

4.7 โดยสรุป เราเห็นความไม่เท่าเทียมของสภาวะข้ามถิ่น วิถีของความชะงักงันและตกต่ำทำให้มีสินทรัพย์ลดลง ซึ่งสัมพันธ์กับการย้ายถิ่นในประเทศและไม่มีเงินสะสมจนทำให้ผู้ย้ายถิ่นทำได้เพียงรับมือกับความเสี่ยง ต่างจากกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตคนกลุ่มนี้ได้รับประโยชน์จากการย้ายถิ่นในระดับชาติและนานาชาติ มีการสะสมทุน นำไปสู่ความสามารถในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองต่อไป

5. สรุป

5.1 การย้ายถิ่นเป็นได้ทั้งการสร้างการรู้รับปรับตัวเชิงสังคมที่ดี หรือเป็นการผลิตซ้ำความเปราะบางแก่ผู้ย้ายถิ่นและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ การตัดสินใจ และเงื่อนไขในชีวิตที่เกี่ยวข้อง

5.2 การย้ายถิ่นไม่ได้เป็นเรื่องของผู้ย้ายถิ่นอย่างเดียว แต่เป็นอิทธิพลร่วมกัน (mutual influence) ของเครือข่ายผู้ย้ายถิ่นและผู้ไม่ย้ายถิ่นที่ยึดโยงอยู่ทั้งพื้นที่ต้นทาง (ภูมิลำเนา) และพื้นที่ปลายทางที่ผู้ย้ายถิ่นเดินทางไปด้วย

5.3 ผู้เขียนเห็นว่า การบรรยายของ Professor Patrick ทำให้ตระหนักว่า การวิเคราะห์ปัจจัยผลักดัน-ดึงดูดในการตัดสินใจของตัวผู้ย้ายถิ่น เพื่อเชื่อมโยงกับการปรับตัวด้านการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศคงไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะ Professor Patrick ได้ฉายภาพกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างการย้ายถิ่น และผลตอบรับของการย้ายถิ่นที่สลับซับซ้อนและเป็นพลวัต จนทำให้การย้ายถิ่นเป็นกระบวนการที่ไม่มีสิ้นสุด เป็นได้ทั้งโอกาสและข้อจำกัด ช่วยเสริมสร้างให้ครัวเรือนรับมือกับความเสี่ยงได้ดีขึ้น หรืออาจซ้ำเติมความเสี่ยงให้หนักกว่าเดิมก็ได้ นอกจากนี้ Professor Patrick เน้นย้ำเสมอว่า การย้ายถิ่นคือปรากฏการณ์ปกติในสังคม ต่อให้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมมากำหนดก็ตาม การย้ายถิ่นก็ยังถูกขับเคลื่อนต่อไปในฐานะที่เป็นยุทธศาสตร์การดำรงชีพของชาวชนบทที่ยึดโยงคนที่อยู่ต้นทางและปลายทางเข้าด้วยกัน ภายใต้ความไม่แน่นอนในด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และประชากร ไม่ว่ากลุ่มคนเหล่านั้นจะเคลื่อนย้ายหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้นักภูมิศาสตร์เข้าใจความหลากหลาย ความแตกต่าง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาภูมิศาสตร์ในยุคที่มีความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ เวลา สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น

…………………………………………………….

แชร์ข้อความ:

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save