CMUGS EP.9 : Southeast Asia Essay Series : กระบวนการกลายเป็นประชาธิปไตยของประเทศอินโดนีเซีย
นภัสสร เครือวงศ์
นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 2
ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
…………………………………………………
ประเทศอินโดนีเซียถือเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พัฒนาประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การลงจากอำนาจเผด็จการของประธานาธิบดีซูฮาร์โต (Suharto) ในช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง บทความนี้จะทำการวิเคราะห์ถึงปัจจัยและกระบวนการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ ที่ส่งผลจนกลายเป็นประชาธิปไตยที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน
ระบอบอำนาจในอินโดนีเซีย
สืบเนื่องมาจากหลังประเทศอินโดนีเซียภายหลังได้รับเอกราช ซูการ์โนได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และพยายามที่จะใช้การระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาแต่ไม่สำเร็จ จึงได้มีการใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบนำวิถี (Guided Democracy) โดยนำหลักปัญจศิลา (Panchasila) มาเป็นกรอบในการสร้างชาติ หลักปัญจศิลาเป็นปรัชญาของรัฐอินโดนีเซีย มีหลักการ 5 ข้อคือ เชื่อในพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้น หลักมนุษยธรรมและมีอารยะ ความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศอินโดนีเซีย ประชาธิปไตยอันเกิดจากความเห็นพ้องต้องกันของผู้แทนปวงชน ความยุติธรรมทางสังคมสำหรับชาวอินโดนีเซียทุกหมู่เหล่า หลักการดังกล่าวครอบคลุมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความสามัคคีภายใต้การนำของตน นอกจากนี้ ยังมีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์และการแต่งตั้งพลทหารเพื่อถ่วงดุลอำนาจ แต่เมื่อเกิดวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองภายในปี 1965 ซูฮาร์โตได้นำกองทัพเข้าทำการยึดอำนาจของนายพลซูการ์โน โดยอ้างว่าเป็นการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ก่อนที่จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีของรัฐ
ยุค New Order
ในปี 1965-1966 หลังจากการยึดอำนาจ ชูฮาร์โตได้ยกเลิกนโยบายต่างๆ ของอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน มีการกวาดล้างขบวนการคอมมิวนิสต์ (PKI) อย่างโหดเหี้ยม นักประวัติศาสตร์ Robert Cribb คาดว่ามีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนและถูกจับกุมถึงหนึ่งล้านคน นำไปสู่การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางผ่านทหาร ซึ่งไม่เพียงแต่ทำหน้าที่รักษาความสงบเท่านั้น แต่รวมถึงการบริหารจัดการประเทศที่เรียกว่า Dwifungsi ระบบนี้มีภารกิจหลักในการกำหนดที่นั่งของนายพลในสภา ส่งเจ้าหน้าที่ทหารเข้าปกครองในส่วนต่างๆ และกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ อุตสาหกรรม การเงิน และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ถึงแม้จะมีรูปแบบบางอย่างที่คล้ายประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้งสภานิติบัญญัติครั้งแรก วันที่ 13 กรกฎาคม 1971 มีพรรคการเมืองทั้งหมด 9 พรรค แต่ภายหลังซูฮาร์โตก็ได้จำกัดพื้นที่พรรคการเมืองเหลือเพียง 3 ที่รวมพรรค Golkar ที่ตนและกองทัพเป็นฝ่ายสนับสนุนเท่านั้น ทำให้ซูฮาร์โตสืบทอดอำนาจได้ถึง 7 สมัย จนกระทั่งในปี 1997 เกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ทำให้ซูฮาร์โตต้องลงจากตำแหน่งอย่างถาวร ปิดตำนานผู้นำเผด็จการที่ครองอำนาจยาวนานถึง 32 ปี
วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่
ในปี 1997 ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลไปทั่วทั้งเอเชีย ส่งผลให้ค่าเงินอ่อนตัว อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ทำให้คนประเทศอยู่ในภาวะอดอยาก และบุกเข้าปล้นสะดมในร้านค้าต่างๆ และไม่เพียงแค่เหตุผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมถึงความเบื่อหน่ายที่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในยุคของซูฮาร์โต ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การปิดกั้นสื่อ และความล้มเหลวของระบบราชการ ทำให้นักศึกษาและประชาชนได้ทำการชุมนุมประท้วงขับไล่ครั้งใหญ่ มีเป้าหมายหลักคือกดดันซูฮาร์โตให้ออกจากตำแหน่ง เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และกำจัดอำนาจทหารออกจากการเมือง ขณะนั้นทางกองทัพก็ได้ทำการปราบปราม สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง จนกระทั่งซูฮาร์โตขาดการสนับสนุนจากกองทัพ และได้ประกาศลงจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 พฤษภาคม 1997 ก่อนที่บาคารุดดิน ยูซุฟ ฮาร์บีบี (B. J. Habibie) รองประธานาธิบดีจะขึ้นรับตำแหน่ง วิกฤตทางเศรษฐกิจจึงเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเร่งการล่มสลายของยุคเผด็จการซูฮาร์โตเท่านั้น แต่เหตุผลที่แท้จริงคือสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำไว้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาต่างหาก
หนทางในการก้าวสู่ประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย
การพัฒนาประชาธิปไตยภายหลังการเปลี่ยนการปกครองจากระบอบเผด็จการไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งที่อินโดนีเซียทำคือใช้เวลาค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเสมอมา ซึ่งเราเรียกยุคนี้ว่า ยุคปฏิรูป หรือ Reformasi เนื่องจากกระแสสังคม อุดมการณ์ที่เข้มแข็ง ประวัติศาสตร์และบาดแผลที่ประชาชนได้รับตั้งแต่อดีต ทำให้ประชาชนไม่ต้องการอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองเก่าที่อีกต่อไป และเชื่อว่าระบอบการปกครองแบบใหม่จะช่วยให้ประเทศพัฒนาไปได้ไกลกว่าเดิม การพัฒนาการเมืองในอินโดนีเซียดำเนินการในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย การกระจายอำนาจ การลดอำนาจกองทัพ และการมีส่วนร่วมของประชาชน
ด้านกฎหมาย ในสมัยของประธานาธิบดีฮาบีบี ได้ปฎิรูปกฎหมายที่วางรากฐานประชาธิปไตยให้กับประเทศโดยการยกเลิกระบอบเดิม ใช้หลักการ “ประชาธิปไตยแบบฆราวาส (Secular Democracy)” หรือประชาธิปไตยแบบพหุนิยม คือการยอมรับในความแตกต่างของหลากหลาย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในสังคมเพื่อประโยชน์ร่วมกัน และออกกฎหมายการไม่แบ่งแยกเผ่าพันธุ์ Pribumi แก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมือง เปิดโอกาสให้พรรคหน้าใหม่สามารถลงเลือกตั้งได้ และจำกัดวาระของประธานาธิบดีเหลือเพียง 2 วาระเท่านั้น ปล่อยนักโทษทางการเมือง ยกเลิกกฏหมายควบคุมสื่อโดยยกเลิกกระทรวงข้อมูลข่าวสาร ที่จำกัดการแสดงความคิดเห็นที่เป็นปฎิปักษ์ต่อรัฐบาลในสมัยซูฮาร์โต มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เปิดโอกาสคนในแต่ละพื้นที่สามารถเลือกผู้แทนได้ด้วยตนเอง ทำให้อินโดนีเซียได้รับการยอมรับในเวทีสากลมากขึ้น
การกระจายอำนาจ กฎหมายข้อที่ 22 ปี 1999 ว่าด้วยเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น มีเนื้อหาสำคัญคือ การจัดสรรอำนาจรัฐบาลกลางสู่ท้องถิ่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เนื่องจากส่วนท้องถิ่นมีความคุ้นเคยกับคนในพื้นที่มากกว่า จะทำให้สามารถจัดสรรนโยบายได้อย่างเหมาะสม และในบางพื้นที่ยังมีการรักษาธรรมเนียมเดิมทำให้ใช้กฏระเบียบที่ต่างกันได้ เช่น กรณีจังหวัดอาเจะห์ (Aceh) ที่เป็นเขตปกครองตนเองและใช้กฎหมายอิสลามเป็นหลัก นอกจากนี้ ผลจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2002 ทำให้ประชาชนสามารถเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้โดยตรง ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย
การลดอำนาจกองทัพ เริ่มจากการยกเลิกการปฏิบัติหน้าที่สองด้าน (Dwifungsi) วางพื้นฐานด้านกฏหมาย ปรับเปลี่ยนโครงสร้างกองทัพ กำหนดบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจนเพื่อไม่ให้แทรกแซงและดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ หากประสงค์จะเข้าพรรคการเมืองต้องเกษียณออกจากกองทัพก่อน รวมไปถึงการถอดถอนกองทัพออกจากส่วนบริหาร ยกเลิกการกำหนดที่นั่งในสภา และยึดอำนาจปกครองสู่พลเรือน กำหนดให้กระทรวงกลาโหมอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐสภา และรัฐจะทำการเรียกคืนอำนาจทหารในการควบคุมเศรษฐกิจให้หมดภายในปี 2009
การมีส่วนร่วมขององค์กรระหว่างประเทศและภาคประชาสังคม การมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ เป็นความกระตือรือร้นของคนในสังคมที่พร้อมจะแก้ปัญหาไปกับระบอบประชาธิปไตย นอกจากขบวนการนักศึกษาและประชาชนแล้ว ภายหลังยุคระเบียบใหม่ (New Order) กฎหมายควบคุมสื่อถูกยกเลิก ทำให้สื่อต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย จากเดิม 289 ฉบับ กลายเป็น 1,700 ฉบับในเวลาหนึ่งปี ถือว่าวงการสื่อมวลชนได้เติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การเกิดขึ้นขององค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการต่อต้านการทุจริต (KPK) และบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น อาเซียน (ASEAN) องค์กรการค้าโลก (WTO) ฯลฯ ที่อินโดนีเซียเป็นสมาชิกอยู่ มีส่วนช่วยสอดส่องการทำงานของรัฐบาลให้เกิดความเที่ยงตรง โปร่งใส และทำให้ประชาชนรักษาสิทธิของตนได้
บทสรุป
กลไกการพัฒนาประชาธิปไตยอินโดนีเซียนั้นเกิดจากปัญหาภายในสะสมในยุคเผด็จการทหารของซูฮาร์โต ซึ่งทำให้ประชาชนขาดสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี เมื่อถึงจุดแตกหักในช่วงวิกฤตการเงินเอเชีย ความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐบาลเผด็จการเกิดขึ้น ความล้มเหลวนี้ทำให้ประชาชนลุกขึ้นต่อสู้และปฏิรูประบอบการปกครองสู่ประชาธิปไตยที่มีสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ โดยมีการปฏิรูปกฎหมาย เสริมสร้างพลังอำนาจให้แก่คนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง การถ่วงดุลอำนาจจากองค์กรระหว่างประเทศและภาคประชาสังคม รวมทั้งการขจัดอำนาจทหารให้เหลือเพียงการป้องกันประเทศเท่านั้น การเปลี่ยนผ่านการเมืองการปกครองของอินโดนีเซียไปสู่ประชาธิปไตยจึงเป็นการรื้อฟื้นความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ทำให้ประชาชนได้ร่วมปรึกษาหารือและร่วมตัดสินใจกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศของตนเอง ความร่วมมือภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตยตรงนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคมต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
บรรณานุกรม
กอแก้ว วงศ์พันธุ์. (2554). สื่อสิ่งพิมพ์อินโดนีเซีย: จากยุคเผด็จการ สู่ยุค “ดอกไม้บานสะพรั่ง” กลาง “ต้นธุรกิจ”. LUSAMILAE JOURNAL. 32(2), 11-13
เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ (ม.ป.ป). ซูการ์โน และอุดมการณ์เรื่องประชาธิปไตยนำวิถี. สืบค้นจาก http://www.library.polsci.chula.ac.th/dl/0fdc3b2142fb9e0c983f18fa41f7e7d8
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. “วีรชนนักกู้ชาติ ซูการ์โน”. ใน วีรชนเอเชีย : ASIAN HEROES. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค. หน้า 22–45.
ปิติ ศรีแสงงาม. (2562). 10 เรื่องควรรู้ หลังอินโดนีเซียเปิดฉากการเลือกตั้งทั่วไป 2019. สืบค้นจาก https://thestandard.co/indonesian-general-election-2019/
พลอย ธรรมาพิธานนท์. (2560). พลเรือนควบคุมทหาร: หนทางสู่ประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ. สืบค้นจาก https://www.the101.world/civilian-control-of-the-military/
ศาสตรินทร์ ตันสุน. (2560). รัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง :ความสำเร็จของระบอบประชาธิปไตยในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย. วารสารรัฐศาสตร์ปริทรรศน์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร. 4(2), 41-43.
ศิวัช ศรีโภคางกุล. (2560). กระบวนการสร้างประชาธิปไตยผ่านการปฏิรูปกองทัพ และการสร้างความปรองดองในประเทศอินโดนีเซีย. วารสารการบริหารปกครอง (Governance Journal), 6(1), 68-78.
อรอนงค์ ทิพย์พิมล. (2020). การเมืองเรื่องยุบพรรค : ย้อนดูการยุบพรรคการเมืองของอินโดนีเซีย. สืบค้นจาก https://www.the101.world/political-party-dissolution-in-indonesia/
อรไท โสภารัตน์. (2560). การศึกษาเปรียบเทียบการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย สมัย ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) (ค.ศ. 2004-2014) และรัฐบาลเมียนมา สมัยประธานาธิบดี เทียน เซ่ง (Thein Sein) (ค.ศ. 2011-1014). วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร, 37(1), 158-161.
Cribb, Robert. (2002). Unresolved Problems in the Indonesian Killings of 1965-1966. Asian Survey, 42(4), 550-563.
Karoonp. Chetpayark. (2563). แยกทหารจากการเมือง อินโดนีเซียปฏิรูปกองทัพสำเร็จได้อย่างไร ? คุยกับ อ.อรอนงค์ ทิพย์พิมล. สืบค้นจาก https://thematter.co/social/indonesia-military-reform/135840
Prachatai. (12 Jan 2020). ศึกษาอินโดนีเซียถอนทหารออกจากการเมือง | ASEAN Weekly ตอนพิเศษ [Video file]. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=gF3ZQ6pgC4s
Syaikhu, U. (2001). Indonesia’s Decentralization Policy: Initial Experiences and Emerging Problems. Retrieved from https://smeru.or.id/en/content/indonesias-decentralization-policy-initial-experiences-and-emerging-problems
The Standard. (2563). จากราชดำเนินสู่กวางจูแลละอินโดนีเซีย ถอดบทเรียนความทรงจำของสามัญชนสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย. สืบค้นจาก https://today.line.me/th/v2/article/g53OEG
Transparency international. (1998). SUHARTO’S FAMILY “MUST RETURN LOOTED WEALTH”. Retrieved from https://www.transparency.org/en/press/suhartos-family-must-return-looted-wealth
Voice online. (2020). โลกไม่ได้แบน: ขบวนการนักศึกษาอินโดฯ คว่ำเผด็จการได้และไม่เคยห่างหายจากการเมือง. สืบค้นจาก https://voicetv.co.th/read/iWpgLaYUu
Watch Indonesia. (2018). Call for Papers: Law and Justice – Indonesia 20 years after ‘Reformasi’. Retrieved from https://www.watchindonesia.de/20015/call-for-papers-recht-und-gerechtigkeit?lang=en
Wikipedia. (2021, November 28). 1971 Indonesian legislative election. Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/1971_Indonesian_legislative_election