สรุปประเด็นสัมมนา Virtual Geography Speaker Series #1 บรรยายโดย ศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์ James Sidaway

หัวข้อ “บทสะท้อนต่อการเปลี่ยนแปลงศาสตร์ทางภูมิศาสตร์จากมุมมองของวารสาร Singapore Journal of Tropical Geography (1953-)”

ชยา วรรธนะภูติ
ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

……………………………………………………..

1. ศาสตราจารย์ James Sidaway ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์การเมือง (political geography) ประจำมหาวิทยาลัย National University of Singapore โดยศาสตราจารย์ Sidaway มีความสนใจอยู่สองด้าน คือ ด้านภูมิศาสตร์การเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ และด้านประวัติศาสตร์และปรัชญาของศาสตร์ทางภูมิศาสตร์ (ผู้แต่งหนังสือ Geography and Geographers: Anglo-American Human Geography since 1945) นอกจากนั้นยังเป็นบรรณาธิการประจำวารสารวิชาการด้านภูมิศาสตร์ Singapore Journal of Tropical Geography (SJTG) ด้วยความเชี่ยวชาญดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลให้คณะผู้จัดงาน Geography Speaker Series เชิญท่านเป็นผู้ “เปิด” สัมมนาเป็นคนแรกเพื่อเล่าภาพรวมถึงพัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้ และแนวทางการศึกษาวิชาภูมิศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้เพื่อให้นักภูมิศาสตร์ไทยได้เห็นว่า พวกเราอยู่ตรงไหนของขบวนรถไฟองค์ความรู้ภูมิศาสตร์

.

2. ไอเดียหลักๆ ของเนื้อหาสัมมนาครั้งนี้มีอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน คือ 1) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเขตร้อน ในฐานะที่เป็น “พื้นที่” แห่งการผลิตความรู้ภูมิศาสตร์ และ 2) ความรู้ภูมิศาสตร์เกี่ยวกับพื้นที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกเขียนขึ้นโดยใคร และเพื่อใคร ทั้งสองประเด็นนี้เป็นตัวอธิบายพลวัตการเปลี่ยนแปลงของความรู้ภูมิศาสตร์ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา จากการวิเคราะห์บทความที่ตีพิมพ์บทความลงในวารสาร SJTG

.

3. ย้อนกลับไปในยุคการเดินเรือและการล่าอาณานิคมเมื่อกว่าสองร้อยปีก่อน แม้ว่าเขตร้อน (the Tropics) จะเป็นแหล่งของทรัพยากรต่างแดนที่น่าหลงใหล แต่มักเป็นพื้นที่ที่ถูกมองในแง่ลบจากสายตาของชาวยุโรปเจ้าอาณานิคม ในแง่ที่ว่า อากาศร้อน (กว่าในยุโรป) เป็นเหตุผลที่ทำให้คนพื้นเมืองเกียจคร้าน ไม่เฉลียวฉลาดทัดเทียมผู้มาเยือนจากเขตอากาศอบอุ่น นอกจากนั้น ป่าดิบชื้นยังเต็มไปด้วยภัยอันตรายและเชื้อโรค ผู้คนล้มป่วยได้ง่าย หรือกล่าวคือ ดินแดนและภูมิอากาศของเขตร้อน เป็นข้อจำกัดและความยากลำบากต่อการดำเนินชีวิต ผู้คนไร้อารยธรรม จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้เกิดความศิวิไลซ์ จะเห็นได้ว่าฝรั่งเจ้าอาณานิคมได้ใช้ข้ออ้างทางกายภาพนี้ในการเข้ามายึดครองดินแดนและเปลี่ยนแนวทางการปกครองและผังเมือง เช่นในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

.

4. แม้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการปลดปล่อยอาณานิคมแล้วก็ตาม แต่ร่องรอยและอำนาจอาณานิคมยังคงหลงเหลืออยู่อย่างชัดเจน เพียงแต่แอบแฝงอยู่ในรูปของโครงการพัฒนาประเทศที่สนับสนุนโดยประเทศอาณานิคมในโลกตะวันตก ภายใต้แนวคิดการพัฒนากระแสหลักที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการฟื้นฟูประเทศจากสงคราม ในขณะเดียวกัน ฝั่งอเมริกาก็มีอิทธิพลต่อการสนับสนุนการศึกษาและทำวิจัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะการบังคับให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการเขียนบทความลงในวารสารวิชาการ จะเห็นได้ว่าภูมิภาคแห่งนี้จึงไม่เคยตัดขาดจากความเชื่อมต่อกับประเทศเจ้าอำนาจเลยแม้กาลเวลาจะล่วงเลยมาหลายร้อยปี ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนและปะทะประสานของภาษา ความรู้ ผู้คนและสิ่งของ นี่คือพื้นที่ที่ท้องถิ่นผสมผสานกับสากล โลกตะวันตกปะทะโลกตะวันออก

.

5. การศึกษาทางภูมิศาสตร์ว่าด้วยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดขึ้นภายใต้ชื่อ “Tropical Geography” หรือ “ภูมิศาสตร์เขตร้อน” ที่ศึกษาอิทธิพลและความสำคัญของระบบนิเวศ ภูมิอากาศและทรัพยากรต่อความเป็นไปของผู้คนในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในทางกลับกันศึกษาว่าผู้คน วัฒนธรรม สังคมและเศรษฐกิจปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรอย่างไร อย่างไรก็ดี จากประเด็นข้อ 3 และ 4 แสดงให้เห็นว่า การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับธรรมชาติในเขตร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ซ้อนทับอยู่ในบริบทของความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางอาณานิคม และปราศจากความเป็นกลางทางวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นการศึกษาสังคม-ธรรมชาติของพื้นที่แห่งนี้ผ่าน “แว่นตา” ที่มอบความหมายและจินตนาการใหม่ให้แก่เขตร้อน ว่าเป็นคู่ตรงข้ามและเป็นอื่นของจักรวรรดิยุโรป หากประยุกต์ใช้งานของ Edward Said ว่าด้วยบูรพาคดีศึกษา (Orientalism) จะสามารถอธิบายได้ว่า พื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ถูกค้นพบและถูกสร้างขึ้น (socially constructed) ผ่านจินตนาการและวาทกรรมว่าด้วยเขตร้อน (Tropicality) ที่นำมาประทับบนพื้นที่ทางกายภาพของเขตร้อน (the Tropics) การศึกษาภูมิศาสตร์เขตร้อนในช่วงแรก จึงเป็นทั้งความรู้ มโนทัศน์และวาทกรรมอันทรงอำนาจที่ใช้จัดวางตำแหน่งแห่งที่ของพื้นที่เขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ตกอยู่ภายใต้ความคิดและปฏิบัติการทางอาณานิคมทางของยุโรปเสมอมา เป็นความรู้ของจักรวรรดิที่เพิกเฉยต่อความรู้ของคนพื้นเมือง ผู้ที่ถูกมองว่าไร้อำนาจและความสามารถ

.

6. หลังจากการก่อตั้งวารสาร SJTG ในปี 1953 จึงไม่แปลกนักที่บทความรุ่นบุกเบิกเน้นไปที่การสำรวจข้อมูลพื้นฐาน การทำแผนที่และการพรรณนารูปแบบการกระจายตัวของดิน ภูมิประเทศ ระบบนิเวศ ภูมิอากาศ การกระจายตัวของพืชสัตว์ท้องถิ่นและการกระจายตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ  รวมถึงการอธิบายปัจจัยทางกายภาพในฐานะสิ่งที่เอื้อ (possibilism) หรือเป็นอุปสรรค (determinism) ต่อการดำรงชีวิต การตั้งถิ่นฐานและการเกษตร

.

7. ในยุคทศวรรษ 1960 ในบริบทของสงครามเย็น บทความที่ส่งตีพิมพ์เริ่มเน้นไปที่การก้าวข้ามข้อจำกัดทางกายภาพ รวมถึงศึกษาศักยภาพโครงการการพัฒนา เช่น การศึกษาศักยภาพการก่อตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า การวางผังเมือง เป็นต้น ในช่วงทศวรรษนี้ก็เป็นช่วงที่นักวิจัยในพื้นที่ได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติเชิงปริมาณ (Quantitative Revolution) ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ทำให้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงจากการศึกษาเชิงพรรณนา เป็นการศึกษาเชิงปริมาณ มีการใช้เทคนิคทางสถิติที่ชัดเจนขึ้น

.

8. ในภาพรวมพบว่า ผลงานตีพิมพ์ในวารสาร SJTG ค่อนข้างสอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านทางสกุลความคิดภูมิศาสตร์ในโลกตะวันตก (ถึงแม้ว่าอาจจะล่าช้ากว่าเล็กน้อย) ในยุคทศวรรษ 1970 กระแสมาร์กซิสต์มีอิทธิพลอย่างมาก ทำให้นักภูมิศาสตร์มนุษย์สายก้าวหน้า (radical geographer) หันไปทางการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างเชิงอำนาจ ระบบทุนนิยม และบทบาทของประเทศมหาอำนาจเช่นญี่ปุ่น รวมถึงตั้งคำถามกับโครงการพัฒนาที่พันผูกกับระบบเศรษฐกิจและการเมืองในแบบที่นักภูมิศาสตร์ในช่วงทศวรรษก่อนหน้านี้มองข้ามไป ในช่วงทศวรรษเดียวกันนั้น งานวิจัยทางด้านภูมิศาสตร์เทคนิคเริ่มเติบโต ด้วยอิทธิพลของภูมิสารสนเทศและข้อมูลดาวเทียม ในยุคทศวรรษ 1980 กลุ่มนักภูมิศาสตร์มนุษย์อีกกลุ่มก็ได้ผลิตผลงานแนวสตรีนิยม เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ รวมถึงผู้หญิงและคนชายขอบที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม จะเห็นได้ว่า จากช่วงเวลาดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน วารสาร SJTG เผยแพร่ผลงานในหลากหลายด้าน ทั้งในเชิงคุณภาพที่เน้นการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณา  และในเชิงปริมาณที่เน้นการทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ และการประยุกต์ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศ รวมถึงการทำงานกับข้อมูล Big Data มีการศึกษาในระดับประเทศและภูมิภาคมากขึ้น เช่นการย้ายถิ่น และปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน

.

9. สรุป 1: ธรรมชาติของศาสตร์ทางภูมิศาสตร์ คือ การเปิดรับ การผสมผสาน และการข้ามศาสตร์ ตั้งแต่ปี 1953 ตลอดจนถึงปัจจุบัน บทความวิชาการในวารสาร SJTG ทวีความหลากหลายในศาสตร์และสาขา ทฤษฎี ระเบียบวิจัย รวมถึงผู้แต่งที่มาจากทั้งในและนอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทำนองเดียวกัน การเปิดรับ การผสมผสาน และการข้ามศาสตร์ ก็เป็นทักษะและคุณสมบัติที่สำคัญของนักภูมิศาสตร์เพื่อใช้ทำความเข้าใจความซับซ้อนของปรากฏการณ์ต่างๆ บนโลกใบนี้ ในภาพกว้าง การสร้างสะพานเชื่อมภายในวงการภูมิศาสตร์ด้วยกันเอง และการทอดสะพานเชื่อมระหว่างศาสตร์อื่นๆ (ทั้งที่เราหยิบยืมความรู้จากศาสตร์อื่น และที่ศาสตร์อื่นมาหยิบยืมความรู้จากเรา) จะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ศาสตร์ทางภูมิศาสตร์พัฒนาเติบโตและเป็นที่ยอมรับทัดเทียมกับศาสตร์อื่นๆ ในทางตรงข้าม การสร้างกำแพงหรือการไม่กล้าทำลายกำแพง จะยิ่งทำให้เราถอยหลังในเชิงวิชาการมากขึ้นเรื่อยๆ

.

10. สรุป 2: นักภูมิศาสตร์มนุษย์รุ่นใหม่ (ทั้งที่เป็นคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และที่เป็นฝรั่งที่ทำงานในภูมิภาคนี้) หันกลับมาตั้งคำถามเชิงวิพากษ์กับมรดกที่ลัทธิอาณานิคมมอบให้ (ดูบทความใน SJTG ฉบับปี 2014 และปี 2021) พวกเขาพยายามรื้อถอน “ความจริง” ของจินตนาการและวาทกรรมว่าด้วยเขตร้อน (Tropicality) ที่สร้างโดยฝรั่งให้ฝรั่งอ่าน ซึ่งเป็นความจริงที่หลายครั้งเหมารวมและลดทอนบริบทเชิงพื้นที่และวัฒนธรรมท้องถิ่น ภายใต้แนวทางที่เรียกว่า “postcolonial geographies” หรือภูมิศาสตร์หลังอาณานิคม พวกเขาถามว่า ตลอดสองร้อยปีที่ผ่านมา ใครเป็นผู้ผลิตความรู้ภูมิศาสตร์ และในปัจจุบันนี้ ใครควรมีสิทธิมีเสียงในการผลิตความรู้ภูมิศาสตร์เกี่ยวกับภูมิภาคแห่งนี้ พวกเขาต้องการเชิดชูความรู้ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ในแต่ละท้องถิ่น เพื่อสร้างประชาธิปไตยของความรู้ และสร้างความเป็นพหุลักษณ์ของความรู้ภูมิศาสตร์ (geographies ที่สะกดด้วย ies) ทั้งหมดนี้ เป็นทั้งความตั้งใจและความท้าทายสำหรับนักภูมิศาสตร์รุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

.

11. มองไปข้างหน้า จึงมีคำถามว่า ในห้องสัมมนาหัวข้อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในเวทีประชุมภูมิศาสตร์ระดับนานาชาติ (เช่น AAG และ RGS-IBG) ทำอย่างไรจะให้นักภูมิศาสตร์ไทยนำเสนอผลงานที่สามารถจะต่อยอดหรือหักล้างกับทฤษฎีของนักภูมิศาสตร์จากโลกตะวันตกได้บ้าง ทำอย่างไรนักภูมิศาสตร์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีส่วนร่วมในการผลิตความรู้ภูมิศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติได้บ้าง (เช่น การอธิบายรูปแบบการเติบโตของเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในศตวรรษที่ 21 ที่ก้าวพ้นแบบจำลองเมืองของ Christaller หรือของ McGee)

.

12. ชวนคิด :

1) นักภูมิศาสตร์ไทยจะสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้าง หากได้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงศาสตร์ทางภูมิศาสตร์จากมุมมองของวารสารภูมิศาสตร์ของสมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย?

2) นักภูมิศาสตร์ไทยจะได้อะไรจากการปลดปล่อยอาณานิคมทางความรู้ภูมิศาสตร์ 3) หากในโลกอนาคตมีหนังสือชื่อว่า Geography and Geographers: Southeast Asian Geography since 1945 หนังสือเล่มนี้จะมีเนื้อหาเป็นอย่างไร?

แชร์ข้อความ:

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save