การแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศริเริ่มโดยสมาพันธ์ภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะกระตุ้นความสนใจของเยาวชนในการศึกษาด้านภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และเป็นเวทีสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจที่ดีต่อกันให้กับเยาวชนจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก การแข่งขันนี้เริ่มจัดครั้งแรกในปี ค.ศ. 1996 ที่ กรุงเฮก ประเทศเนเทอร์แลนด์ และจัดแข่งขันต่อมาทุกๆ 2 ปี และในปี 2013 เป็นต้นไปจัดให้มีการแข่งขันทุกปี นักเรียนจากแต่ละประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 4 คน โดยต้องมีอายุระหว่าง 16-19 ปี และยังศึกษาในระดับมัธยมของประเทศนั้นๆ ภาษาทางการของการแข่งขันคือภาษาอังกฤษ นักเรียนต้องมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ภูมิศาสตร์โอลิมปิกของประเทศไทย เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2555 จากการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับเชิญให้เสด็จเปิดงาน International Geography Conference (IGC 2012) ณ มหาวิทยาลัยโคโลญจน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งในพิธีเปิดมีการมอบรางวัลเหรียญทองในการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (International Geography Olympiad หรือ iGeo) เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทย จึงมีพระราชดำริให้ มูลนิธิ สอวน. ศึกษาข้อมูลเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันดังกล่าว มูลนิธิ สอวน. จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริระดมคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถด้านภูมิศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และตั้งเป็นคณะทำงานเพื่อพัฒนาหลักสูตรและตำราภูมิศาสตร์โอลิมปิก เพื่อใช้ในการอบรมครู อบรมนักเรียน และการสอบคัดเลือกผู้แทนประเทศไทย ประกอบด้วย ภูมิศาสตร์กายภาพ ภูมิศาสตร์มนุษย์ และภูมิศาสตร์เทคนิค ในปี พ.ศ. 2558 มูลนิธิ สอวน. ได้ดำเนินการจัดสอบคัดเลือกนักเรียนเพื่อมาอบรม และคัดเลือกเพื่อส่งไปเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งแรก และได้รับ 1 เหรียญเงิน 3 เหรียญทองแดง ในปี พ.ศ. 2560 มูลนิธิ สอวน. จัดตั้งศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิกขึ้นทั่วประเทศ จำนวน 15 ศูนย์ เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทย ทั่วทุกภูมิภาคได้มีโอกาสรับการคัดเลือก โดยศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิกจะมีหน้าที่หลักในการจัดอบรมและคัดเลือกนักเรียนเพื่อเป็นผู้แทนศูนย์ เข้าร่วมการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ประกอบด้วย ศูนย์มหาวิทยาลัย 7 ศูนย์ และศูนย์โรงเรียน 8 ศูนย์ ดังนี้